เลือกตั้งครั้งแรก…รู้สึกกันอย่างไร?

จำได้ไหมตอนกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกรู้สึกกันอย่างไร?

บางคนลืมบัตรประชาชน บางคนงงไม่รู้ว่าต้องกาตรงไหน การเลือกตั้งบางครั้งมีบัตรมากกว่า ๑ ใบ ให้กายังไง บางคนกาถูกกลายเป็นบัตรเสียไปอีก ต้องกา X เท่านั้นนะอย่าลืม

หลาย ๆ คนที่เจนสนามผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลายยุคหลายสมัย การไปลงคะแนนเสียงคงเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (อายุ ๑๘-๒๕ ปี) จะเกิดความรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะกับการเลือกตั้ง ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกสูงถึงประมาณ ๗ ล้านคน จะมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นกับ คนที่ได้เลือกตั้งครั้งแรกบ้าง ลองตามมาดูกัน

๑. “ตื่นเต้น” เป็นความรู้สึกส่วนใหญ่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (อายุ ๑๘-๒๕ ปี) และเตรียมพร้อมที่จะไปลงคะแนนเสียงอย่างแน่นอนในวันที่ ๒๔ มีนาคม อย่างเต็มที่ เช่น เตรียมปากกาไปเอง (เขามีปากกาให้ แต่เอาไปเองก็ได้เช่นกัน) อ่านข้อมูลผู้สมัครอย่างละเอียด เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนให้พร้อม (หมดอายุก็ใช้ได้ ใบขับขี่ก็ใช้ได้นะ)

ข้อควรระวัง อย่าตื่นเต้นจนกาผิดเลขที่เลือก และให้กา X เท่านั้น

๒ “อยากเลือกเร็ว ๆ” สายวอนท์ รอเลือกมานานแล้ว เลื่อนแล้วเลื่อนอีก อยากลงคะแนนเสียงแล้ว (เบื่อลุงแล้ว) ก็เป็นอีกความรู้สึกของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงครั้งแรก และอยากได้ผู้แทนที่ตัวเองเลือกเองมากกว่าคนที่ตัวเองไม่ได้เลือก

ข้อควรระวัง ดูให้ดี ๆ ว่าพรรคที่เลือกหมายเลขอะไร กาผิดเดี๋ยวจะเสียใจไปอีก ๔ ปี

๓. “เพลิดเพลิน” สายนี้ออกแนวบันเทิง มุ่งมองหาผู้สมัครหนุ่มหล่อ สาวสวย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีมาประชันกันอย่างไม่ยั้ง ทั้ง ดารา นักร้อง นางแบบ ยิ่งผู้สมัครอายุน้อยและดูดีมีชาติตระกูลยิ่งรู้สึกใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ ลูกสาวของผู้สมัครบางคนก็ช่วยให้เจริญหูเจริญตาไม่น้อย

ข้อควรระวัง ดูหน้า ดูหุ่น แล้วอย่างลืมดูนะโยบายนะจ๊ะ

๔.  “มึนงง สับสน” เลือกตั้งเขตไหน หน่วยเลือกตั้งคืออะไร บัตรเลือกตั้งมีกี่ใบ กาได้กี่ครั้ง มีใครให้เลือกบ้าง แม้จะตื่นเต้น และอยากเลือกเร็ว ๆ แต่ก็มึนงงอยู่ว่า จะเลือกอย่างไร เพราะกระแสข่าวมีทั้ง ผู้สมัครแบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อ แล้วยังมีบัญชีนายกอีก แต่คนจัดการเลือกตั้งบอกว่ามีบัตรให้กาแผ่นเดียว แล้วจะให้กาเลือกอะไร ก็งงกันไป

ข้อควรระวัง มึนมาขนาดนี้แล้ว อย่ามึนไปจนวันเลือกตั้ง เข้าไปหาคำตอบได้ที่เว็บไซต์ กกต. 

๕. “ได้ด้วยหรอ” อารมณ์นี้หนักกว่ามึนงง คือยังไม่รู้ตัวว่าต้องไปเลือกตั้ง ไม่เคยสนใจ หรือสนใจแต่คิดว่ายังเลือกไม่ได้ โดยเฉพาะกับน้อง ๆ ที่เพิ่งจะครบ ๑๘ ปีนี้ ก่อนวันเลือกตั้ง อาจจะยังไม่รู้ตัวว่ามีสิทธิลงคะแนนเสียง ส่วนอีกกลุ่มคือ “แนววืด” เกิดหลังเลือกตั้ง เช่น เกิด ๒๕ มีนา ๒๕๔๔ ก็พลาดการเลือกตั้งไปอย่างฉิวเฉียด

สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องไปลงคะแนนเสียงที่เขตไหน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ที่นี่