First Jobber เร่เข้ามาให้ไว … เขียนใบสมัครงานอย่างไร ไม่ให้โดนขยำทิ้ง?

เหมือนเพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่นาน จู่ๆ ช่วงนี้ก็กลายเป็นปิดเทอมใหญ่ของเหล่านิสิต นักศึกษากันแล้ว และสำหรับบางคน นี่คือ “ปิดเทอมสุดท้าย” ก่อนที่จะต้องเปิดเทอมไปสู่โลกแห่งการทำงานแทน แต่ก่อนที่จะเข้าทำงานในตำแหน่งที่หมายปองหรือออฟฟิศในฝัน มีกระดาษอยู่ใบหนึ่ง ที่จะทำหน้าที่เป็น “ใบเบิกทาง” เข้าสู่โลกการทำงาน นั่นคือ “ใบสมัครงาน” … มาเช็คกันดีกว่า ว่าใบสมัครงานที่เรากำลังจะร่อนไปตามที่ต่างๆ นั้น จะถูกอ่านด้วยความตั้งใจ หรือจะถูกขยำ (หรือกดลบไฟล์) ทิ้งกันแน่?

  1. ภาษาวิบัติ : วิธีคัดคนทิ้งที่ได้ผล!

“สวัสดีคร่า/สวัสดีครัช… ขออนุญาติส่งใบสมัครงานนะค่ะ ขอบคุนนะค่ะ/ขอบคุณคับ” ใครอ่านประโยคนี้แล้วรู้สึกคันหัวยุบยิบ แถมคันไม้คันมืออยากทึ้งผมแล้วสั่งคนเขียนให้แก้ให้ถูก แสดงว่าเรายังพอมีความหวังในการเขียนใบสมัครงานที่น่าอ่านได้ เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่แผนกบุคคล หรือผู้ที่มีหน้าที่คัดคนเข้าทำงานในแต่ละแผนก จะให้ความสำคัญกับการสะกดคำให้ถูกต้องเป็นลำดับแรกๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นสายงานประเภทไหนก็ควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทั้งการสะกด การเลือกใช้คำ ระดับภาษา การผันวรรณยุกต์ หรือคำที่มักเขียนผิดบ่อยๆ ส่วนเจ้า “ภาษาแชท” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตะเอง, คร่า, ตะไม, จิงดิ, ตู้หูว, เอิ่ม, คึ่บั่บ ฯลฯ ค่อยเก็บเอาไว้ใช้แชทคุยกันหลังเขารับเข้าทำงานแล้ว ก็ยังไม่สายเนอะ

  1. ประวัติย่อ ไม่ใช่ “สารคดีชีวิต”

Resume หรือ CV มีคำเรียกในภาษาไทยว่า “ประวัติย่อ” มีจุดประสงค์ก็คือการทำให้ผู้อ่านรู้จักเราอย่างรวดเร็ว และมากพอที่จะตัดสินใจเรียกเรามาสัมภาษณ์ โดยมากจึงมักมีขนาดความยาวราวๆ 1-2 หน้ากระดาษ A4 ก็พอแล้ว ขนาดฟอนต์ 16-18 คือขนาดที่กำลังน่าอ่าน ใครพิมพ์ตัวเล็กยุบยิบแบบต้องขมวดคิ้วอ่าน อาจจะโดนโยนทิ้งง่ายๆ ในข้อหาทำให้เจ้านายหน้าเหี่ยวก่อนวัยอันควร และเราไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลที่ไม่สำคัญมาเยอะๆ เพื่อเพิ่มความหนาหรือทำให้ดูว่าคนคนนี้ประวัติแน่นปึ้ก!… นอกจากจะเสียเวลาอ่านแล้ว ยังทำให้โลกร้อนเปล่าๆ

  1. ความสามารถแบบเรา ควรได้เงินเดือนหรือเงินทอน?

ใครๆ ก็อยากได้ “เงินเดือนที่ชอบ” แต่แน่นอนว่ามันก็ต้องแลกกับ “ความสามารถที่ใช่” ด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องประเมินความสามารถของเราว่าสามารถทำงานให้สมน้ำสมเนื้อกับเงินเดือนที่เราคาดหวังหรือเปล่า ที่ผ่านมา เคยมีนายจ้างหลายรายที่รีบเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานจบใหม่ถึง 2 เท่าตัวภายในเวลาไม่ถึงปี เพราะประทับใจในผลงานของ “เด็กจบใหม่” คนนี้มากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเจ้านายที่ขอเลิกจ้างลูกน้องหน้าใส ด้วยเหตุผลที่ว่า “เงินเดือนของน้อง พี่จ้างคนที่ทำงานเป็นกว่าน้อง ได้เกือบ 2 คนเลยค่ะ” … ดังนั้น เรียกเงินเดือนพอดีๆ เป็นศรีแก่ตัวจ้ะ

  1. อีเมล์ หรือ อีเวร?

เชื่อว่าหลายๆ น่าจะเคยมีความผิดพลาดในการตั้งชื่ออีเมล์สมัยเด็กๆ กันมาบ้าง เช่น AzujiPewPew@email.com, ENooFonZaNaRukSudsud@email.com หรืออะไรก็ตามแต่ … แต่หากเราต้องการจะสมัครงานทั้งที ขอแนะนำให้สมัครอีเมล์ใหม่ก่อน แล้วใช้ชื่อที่เป็นทางการขึ้นสักนิด เช่น J.Prayut112@email.com ชื่ออีเมล์ก็จะดูเป็นผู้เป็นคน น่าติดต่อประสานงานด้วยขึ้นอีกเยอะ!

  1. ฉีกอะไรออกจากแบบเดิมๆ

บางครั้งการทำให้ประวัติย่อของเราสะดุดตา น่าสนใจ ก็กลายเป็นความประทับใจแรก และสามารถป้ายยาคนอ่านให้รับเราเข้าทำงานง่ายขึ้นทันที เคยมีน้องคนหนึ่งสมัครงานในตำแหน่ง Creative ที่บริษัท “แม่น้ำทั้งห้า” จำกัด (ชื่อสมมติ) ด้วยการนำ Resume ใส่ขวดแล้วปิดจุกคอร์ก ทำเหมือนว่ามันลอยตามแม่น้ำมาจนถึงบริษัท ผลคือบริษัทตัดสินใจรับเข้าทำงานภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง! อีกประเด็นคือรูปถ่ายที่แปะอยู่บนใบสมัครงาน ก็ควรหารูปที่ดูดี สีหน้าแจ่มใส ไม่ดูอมทุกข์หรือโดนราหูอม แต่ก็ต้องดูใกล้เคียงหน้าจริงสักนิด ไม่ใช่หน้าเนียนเป็นชามกระเบื้องหรือแต่งหน้าฉูดฉาดเป็นลิงประกิต และถ้าตำแหน่งที่สมัครงานไป เป็นตำแหน่งเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้วล่ะก็… ลองส่งรูปถ่ายประจำตัวที่ดูเก๋ๆ เป็นตัวของตัวเองสักหน่อย รับรองว่าจะดูน่าสนใจขึ้นอีกโขเลยล่ะ

ได้ทิปส์เล็กๆ น้อยๆ ไปเสริมความมั่นใจให้ประวัติย่อกันแล้ว อย่าลืมเอาความมั่นใจในตัวเอง และความตั้งใจเต็มที่ ยัดใส่กระเป๋าตอนเดินไปสมัครงานด้วย

… “ขอต้อนรับสู่โลกจริง” จ้ะ.