ความหมายที่แฝงในราชกกุธภัณฑ์ ไทย และญี่ปุ่น

ในขณะประเทศไทยอยู่ในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ – ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีพระราชพิธีสำคัญเช่นกันก็คือ “พระราชพิธีสละราชสมบัติ ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” ในวันที่ ๓๐ เมษายน และ “พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร” ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๑ พฤษภาคมนี้ และเป็นการเข้าสู่ศักราชใหม่ของประเทศญี่ปุ่น คือ ศักราช “เรวะ” หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ก็จะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์อีกครั้ง

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากความงดงามพระราชพิธีก็คือ เครื่องหมายของความเป็นองค์จักรพรรดิ (ญี่ปุ่น) องค์พระมหากษัตริย์ (ไทย) ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คือ “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” ซึ่งจะมีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แด่องค์พระจักรพรรดิ และพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์หรือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่ง “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” ของแต่ละประเทศก็ความสำคัญและมีคติ มีนัยยะความหมายที่แตกต่างกันไป

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรมและเป็นสมบัติศักดิ์สิทธิ์คู่บัลลังก์ขององค์จักรพรรดิตามคติของลัทธิชินโต ประกอบไปด้วย ของ ๓ ชิ้น ได้แก่

๑. ดาบวิเศษคุซานางิ เป็นสัญลักษณ์แทนคุณธรรมของจักรพรรดิ คือ “กล้าหาญ” ทั้งยังเป็นตัวแทนของเทพสุซาโนโอะ

๒. คันฉ่องแห่งยาตะ เป็นสัญลักษณ์แทนคุณธรรมของจักรพรรดิ คือ “ปัญญา” และเป็นเครื่องหมายแทนแสงอาทิตย์ และเทวีอามาเทราสึ

๓. สร้อยลูกปัดยาซาคานิ เป็นสัญลักษณ์แทนคุณธรรมของจักรพรรดิ คือ “เมตตากรุณา” และเป็นเครื่องหมายแทนความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม ความสงบเย็น และเทพแห่งดวงจันทร์สึคุโยมิ

จะเห็นได้ว่า เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทั้ง ๓ หรือ ไตรราชกกุธภัณฑ์ ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น แสดงถึงความเชื่อมโยงกับเทพเจ้า สะท้อนให้เห็นถึงคติชินโตที่เชื่อว่า องค์จักรพรรดิสืบเชื้อสายมาจากเทพบนสรวงสวรรค์

สำหรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไทยนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกทำลายเสียหายไปหมดเมื่อตอนเสียกรุงครั้งที่ ๒ และมาสร้างขึ้นใหม่โดย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีของสำคัญ ๕ สิ่งเรียกว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์” ประกอบไปด้วย

๑. “พระมหาพิชัยมงกุฎ” ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ความสูง ๖๖ เซนติเมตร หนัก ๗.๓ กิโลกรัม ยอดประดับเพชร “พระมหาวิเชียรมณี” โดยภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่การสวมมงกุฎ จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่พระมหากษัตริย์จะสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากนี้ด้วยน้ำหนักกว่า ๗ กิโลกรัม จึงมีความหมายแฝงว่าพระมหากษัตริย์จะต้องแบกรับราชภาระเพื่อแผ่นดินเพื่อประชาชนชาวไทย

๒. “พระแสงขรรค์ชัยศรี” มีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่มีความมุ่งมั่น มีพระราชอำนาจเด็ดขาด และเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม มีความเที่ยงตรง เหมือนพระขรรค์ที่ตัดตรงเสมอ

๓. “ธารพระกร” หรือ ไม้เท้า สร้างจากไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำ เป็นไม้เท้าด้ามยาว  มีความหมายมงคลสื่อถึงการถวายพระพรให้ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ต้องมีหลักยึด และพระองค์ต้องเป็นหลักให้พสกนิกรได้ยึดเนี่ยวต่อไป

๔. “พระวาลวิชนี” เดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพัดใบตาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างแส้จากขนของจามรี ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน จึงมีการใช้ควบคู่กัน ทั้งพัดใบตาล และพระแส้ โดยรวมเรียกว่า วาลวิชนี เป็นสัญลักษณ์ถึงการโบกปัด พัดวี ความโชคร้ายออกไป

๕. “ฉลองพระบาทเชิงงอน” ทำด้วยทองคำลงยาฝังเพชร รูปทรงรองเท้าแบบอินเดียหรือเปอร์เซีย สื่อถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปยังทุกที่ที่เสด็จพระราชดำเนิน

นอกจากเบญจราชกกุธภัณฑ์แล้ว ยังมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์อีก ๑ สิ่งที่สำคัญมากก็คือ พระมหาเศวตฉัตร หรือ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ฉัตรขาว ๙ ชั้น ที่เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ โดยพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวาย

เห็นได้ว่านอกจากจะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทั้งของประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้น ได้สะท้อนคติความเชื่อ ความศรัทธา และหน้าที่รับผิดชอบของพระมหากษัตริย์ต่อประเทศและพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอีกด้วย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงไม่เพียงเป็นกิจกรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ประชาชนก็ยังสามารถมีส่วนร่วม และเป็นส่วนสำคัญในพระราชพิธีดังกล่าวในหลาย ๆ ทาง อาทิ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ในวันที่ ๕ พฤษภาคม และการเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในวันที่ ๖ พฤษภาคม

ร่วมภาคภูมิใจกับความงดงามทางวัฒนธรรมที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ในพระราชพิธีที่อาจเป็นเพียงครั้งเดียวในชีวิตที่จะได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒