[ไทยไฝว้โพล] สั่งข้าวพิเศษเพิ่มไข่ดาว จะเอาแบบ “สุก” หรือ “ไม่สุก”

ลูกค้า: เจ๊ๆ ขอกระเพราหมูสับพริกเยอะ ๆ ขอพิเศษไข่ดาวด้วย

เจ๊: เออ จะเอาไข่ดาวสุก หรือไข่ดาวไม่สุก

ลูกค้า: “……”

 

บทสนทนาที่คุ้นเคย พบเจอได้ทั่วไปที่ร้านอาหารตามสั่ง เมื่อเราอยากเพิ่มอรรถรสในการกินข้าวด้วยการสั่งไข่ดาวเพิ่ม และถึงแม้ว่าไข่ดาวจะทอดได้หลายแบบ แต่แม่ครัวมักให้ทางเลือกเราแค่ ๒ อย่าง “สุก” กับ “ไม่สุก” ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะหมายถึงความสุกของไข่แดงนั่นเอง

 

สาเหตุของไข่แดงสุก หรือ ไม่สุก

หากย้อนไปมองถึงประวัติศาสตร์การทอดไข่ดาว จะพบว่ามีบางคนไม่ชอบความคาวของไข่แดง จึงมักทอดไข่ดาวให้สุกทั้งไข่ขาวและไข่แดง ในขณะที่อีกหลายคนชอบให้ใช่แดงเยิ้ม ๆ และมักสนุกสนานกับการเจาะไข่แดง จนกระทั่งเมื่อราว ๆ ทศวรรษที่แล้ว ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ผู้เชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุขและบรรดาคุณหมอก็ช่วยกันรณรงค์ให้ทอดไข่ดาวให้สุก เพื่อฆ่าเชื้อโรคให้หมด เรียกว่าเจ๊ไม่ต้องถาม ลูกค้าไม่ต้องบอก สุกทุกดาว

จนกระทั่งสถานการณ์ไข้หวัดนกหมดไป ลูกค้าต่างก็ร่ำร้องจะขอเป็นคนเลือกอีกครั้ง ในขณะที่อีกหลายคนก็ชินกับการกินไข่ดาวแบบสุกไปแล้ว และนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ ไทยไฝว้โพล ไข่ดาวแบบไหนที่เราต้องการ “ไข่ดาวไม่สุก” กับ “ไข่ดาวสุก”

 

 

แน่นอนกองไฝว้ของไข่ดาวไม่สุก พร้อมเปิดตี้ลุย โชว์ความอลังไร้ขีดจัดของไข่แดงเยิ้ม ๆ ให้ฟินกันสุด ๆ อาทิ

“ไข่ดาวไม่สุกค่ะ มัน ๆ เยิ้ม ๆ กินกับกะเพรายิ่งอร่อย”

“ไม่สุกสิจ้ะ เจาะไข่เเดง ราดบนตัวกระเพรา เยาะพริกน้ำปลาหน่อยๆ อืมมมมมมม”

“ไข่ดาวไม่สุก แต่ไข่ขาวต้องกรอบ ๆ”

“น้ำของไข่แดงที่โลมไหลทั่วลิ้น…พัวพันในช่องปากนั้นคืออนันดาไมด์ (Anandamide)…ที่ไหลหลั่ง”

 

ในขณะที่กองไฝว้ไข่ดาวสุกก็เจาะจุดอ่อนของไข่แดงแบบไม่ยั้ง

“ไข่แดงดิบรสชาติแปลก ๆ อะ ไม่ชอบเลย”

“สุกค่ะไม่ชอบกลิ่นคาว”

“ขอแบบสุก ๆ กรอบคะ”

 

แต่ก็ยังมีคนสวนกระแสไฝว้ เช่น “ไข่ดาวมันเล็กไปไม่อิ่ม ต้องไข่เจียว”

สุดท้ายแล้ว ผลการไฝว้เป็นดังนี้

ร้อยละ ๖๙ ร้อยละ ๓๑

 

ไข่ดาวไม่สุกชนะการไฝว้ ได้รับการเทคะแนนถึงร้อยละ ๖๙ จากจำนวนผู้เข้าร่วมไฝว้ ราว ๆ ๑,๕๐๐ คน  ส่วนฝ่ายไข่ดาวสุกก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะผลการไฝว้ไม่ได้กำหนดว่า เจ๊จะเลิกทอดไข่ดาวสุก ๆ และเรายังสามารถสั่งเจ๊ได้ว่า “ขอไข่ดาวสุก ๆ นะเจ๊”