อาหารชื่อต่างประเทศ ที่ไปประเทศนั้นแล้วไม่มีขาย !

“ไปเที่ยว……….นะ เอาของฝากอะไรป่าว?”

หลายคนถ้าได้ยินประโยคแบบนี้ ก็มักจะฝากเพื่อนซื้อของขึ้นชื่อในประเทศหรือเมืองนั้นๆ ทำนองว่าถ้าเพื่อนไปสุราษฎร์ก็จะหิ้วหอยใหญ่ๆ ไข่แดงๆ กลับมาฝากเราได้แน่นอน แต่มีอาหารหลายเมนูที่มีชื่อเกี่ยวกับต่างประเทศ แต่ดั๊นนนน…ไม่มีขายที่นั่น แถมยังแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศนั้นเลยอีกต่างหาก แล้วชื่อเหล่านั้นท่านได้แต่ใดมากันแน่?

ลอดช่องสิงคโปร์ : ชื่อดั้งเดิมของลอดช่องคือ “เชนดอล” เป็นขนมพื้นบ้านที่นิยมกันในแถบเอเชียอาคเนย์อยู่แล้ว ส่วนคำว่า “ลอดช่อง” ก็พอเข้าใจได้แบบไทยๆ ว่าเป็นขนมที่ใช้แป้งลอดช่องของกะลาหรือหม้อเจาะรูออกมา แต่ “ลอดช่องสิงคโปร์” ไม่ได้ผลิตที่สิงคโปร์หรือลอดออกมาจากช่องปากของเจ้าสิงโตทะเลเมอร์ไลออนแต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้ว เมื่อเกือบ 60 ปีก่อนได้มีร้านลอดช่องชนิดเส้นกึ่งใสหนึบๆ เหนียวๆ ร้านแรกในไทย เกิดขึ้นที่หน้า “โรงภาพยนตร์สิงคโปร์” หรือ “โรงหนังเฉลิมบุรี” บนถนนเยาวราชนี่เอง ใครไปใครมาก็มักเรียกติดปากว่า “ลอดช่อง(โรงหนัง)สิงคโปร์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ใครอยากไปเจอตำนานลอดช่องสิงคโปร์ ไม่ต้องจองตั๋วเครื่องบินนะ แต่ไปที่ “ร้านสิงคโปร์โภชนา” แยกหมอมี ถนนเยาวราชได้เลย

กล้วยแขก : ใครมีเพื่อนไปอินเดีย น่าจะเคยกวนโอ๊ยฝากซื้อกล้วยแขกกันมาหลายรายแล้ว เพราะรู้ว่าไม่มีแน่ๆ ใช่มั้ยล่ะ? ที่จริงแล้วกล้วยแขกก็พอจะมีเค้าลางเกี่ยวข้องกับอินเดียอยู่บ้างนิดหน่อย เพราะในสมัยก่อนนั้นขนมของไทยยังไม่มีการทอด กล้วยแขกจึงเป็นเมนูของหวานที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียจริงๆ จะต่างกันก็ตรงที่กล้วยทอดของอินเดียจะคลุกกับขมิ้นและเกลือ หรือถ้าเป็นกล้วยทอดสูตรของอินโดนีเซียและมลายูก็จะคลุกกับแป้งสาลี ไข่ น้ำตาล ไม่ใส่งาและมะพร้าวเหมือนบ้านเรา ดังนั้นถ้าอยากกินกล้วยแขกที่หอมมะพร้าวและงา พอกแป้งกรอบๆ อุ่นๆ แล้วล่ะก็ ต้องกล้วยแขกแบบไทยเท่านั้น!

ขนมโตเกียว : ฮั่นแน่… ใครเคยกินขนมโตเกียวแล้วถ่ายรูปเช็คอินที่กรุงโตเกียวบ้าง ยกมือขึ้น! เจ้าขนมที่ดูเป็นลูกครึ่งระหว่างเครปบวกกับโดรายากิ (ขนมโปรดของโดเรม่อน) นี้ ตัวแป้งถูกพัฒนามาจากแป้งแพนเค้ก ส่วนที่มาของชื่อ “ขนมโตเกียว” ที่เล่าขานกันมาก็คือ แต่เดิมมีร้านขนมประเภทนี้เกิดขึ้นร้านแรกที่ห้างไทยไดมารู ราชประสงค์ (ปัจจุบันคือบิ๊กซี ราชดำริ) ใครเกิดทันชื่อนี้ก็รู้เลยว่าอายุ 30 อัพแน่ๆ ซึ่งร้านที่ว่านี้ก็ทำขนมด้วยแป้งที่คล้ายแป้งโดรายากินี่แหละ เพียงแต่ไม่ได้ใส่ไส้ถั่วแดงกวนเหมือนของญี่ปุ่น แต่เปลี่ยนเป็นไส้สังขยาและไส้ต่างๆ ตามที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน … และแน่นอนว่าเขาได้ตั้งชื่อขนมชนิดนี้ว่า “ขนมโตเกียว” ให้พวกเราเรียกกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขนมจีน : ใครที่เคยโดนอำว่า “ขนมจีนมาจากจีน เพราะจัดเป็นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง” วันนี้ความจริงปรากฏแล้วว่า “จ้อจี้”! เพราะขนมจีนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเทศจีน แต่เกี่ยวกับเชื้อสายเขมรและมอญต่างหาก โดยในภาษาเขมรและมอญได้เรียกอาหารเส้นๆ สีขาวนี้ว่า “คะนอมจิน” ซึ่งแปลว่า “แป้งที่จับเป็นก้อนๆ แล้วทำให้สุก” ซึ่งคำว่า “คะนอม” ที่ว่านี้ ก็ได้กร่อนมากลายเป็นคำว่า “ขนม” ที่คนไทยใช้ทั่วไปด้วย เพราะแปลว่า “การนำข้าวมานวดเป็นแป้ง” ซึ่งเป็นวิธีต้นกำเนิดขนมทั้งหลายในบ้านเรานั่นเอง ดังนั้นอย่าไปเผลอสั่งขนมจีนที่ประเทศจีนล่ะ แต่ถ้าไปเที่ยวกัมพูชาล่ะก็… ได้กินแน่นอน

 

เห็นชื่อต่างๆ เหล่านี้แล้ว รู้เลยว่าคนไทยเชื่อมโยงเก่ง ตั้งชื่อเก่ง มาแต่ไหนแต่ไร แถมแต่ละอย่างก็อร่อยถูกปากเสียด้วยสิ อ่านจบแล้วอย่าลืมจัดขนมจีนแกงเขียวหวานสักจาน กินเพลินๆ กับกล้วยแขก แล้วปิดท้ายแก้เลี่ยนด้วยขนมโตเกียวไส้หวานกับลอดช่องสิงคโปร์สักแก้ว รับรองว่าฟินนนนน….