[ไทยไฝว้โพล] “ชุดนักเรียน” กับ “ชุดไปรเวท” นักเรียนไทยควรแต่งตัวอย่างไรไปโรงเรียน?

เป็นอีกโพลหนึ่งที่สูสีมาก ๆ และมีความเห็นเจ๋ง ๆ จากทั้ง “ฝ่ายยืนยันต้องชุดนักเรียน” และ “ฝ่ายขอเลือกชุดไปรเวท” แน่นอนผลของโพลอาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่การได้พูดคุย แลกเปลี่ยน นำเสนอความคิดเห็นด้วยเหตุผล และปัจจัยต่าง ๆ นี่แหละจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ก่อนที่จะไปดูผลว่าคะแนนโหวตมาทางไหนมากกว่ากัน เรามีดูความเห็นของแต่ละฝ่ายกันก่อนดีกว่าว่า เด็ดแค่ไหน

 

ฝ่ายยืนยันต้องชุดนักเรียน

เริ่มที่คุณ Hine Reven “ใส่ชุดไปรเวทแล้วแยกไม่ออกว่าใครโดดเรียน โดดเรียนกันสนุกเลย สารวัดรนักเรียนตาแตกแน่ ชุดไปรเวทเดี๋ยวมีลายดอกขาม้าขาขาดขาอะไรแปลก ๆ สารพัด พ่วงมาด้วยผมกะลาครอบ บ๊อบ อะไรพวกนี้อีก มันเห็นแล้วแบบเอิ่มม… เข้าไม่ถึงหวะเค้าจะพยายามให้แลดูเหมือนเด็กช่างหรือวินเทจอะไรงี้หรอเข้าใจถูกใช่มั้ย? เอาเป็นชุดนักเรียนแหละ ก่อปัญหาอะไรจะใด้ตามตัวถูก จะได้ไม่ต้องมาแข่งกันอัพเกรดด้วย” และคุณ ขะแมร์ มูนดาราล็อบไบ ซันเดพ็องได “ใส่ชุดนักเรียนเหมือนเดิมดีแล้ว เด็กคนไหนหนีเรียน ขาดเรียนจะได้ดูออก”

ประเด็นที่ทั้งสองท่านนี้แนะนำมาน่าสนใจครับ การแยกออกว่าใช่หรือไม่ใช่นักเรียนนั้น เครื่องแบบคือสิ่งที่ง่ายที่สุด เด็กโดดเรียน เด็กไปทำอะไรไม่ดี ไม่ถูก ก็สามารถตามได้ อีกทั้งหากปล่อยให้ใส่ชุดไปรเวทโดยอิสระก็อาจจะมีเด็กที่แต่งชุดแปลกไปจากที่สังคมปกติยอมรับได้

ตามมาที่ คุณ NooDaeng Deesongkram Pedersen “ชุดนักเรียนทำให้เด็กนักเรียนทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าจะจนหรือรวย ถ้าต้องใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนทุกวัน ภาระจะไปตกที่ผู้ปกครองเพราะเด็กอยากแต่งตัวแข่งกัน เผลอๆ อาจมีโชว์แบรนด์กันด้วย” และคุณ Skugra Darxnez ที่ให้เหตุผลว่า “ชุดนักเรียนดีกว่าครับ คิดว่าเด็กไทยพร้อมที่จะใส่ชุดไปรเวทอย่างอิสระหรอก เหตุผลแรกคืออากาศบ้านเรามันร้อนแขนสั้นขาสั้นจึงเป็นชุดปกติที่คนจะใส่ แต่บางคนก็ใส่จนแบบดูแล้วไม่โอเค(อิงจากที่เห็นเพื่อนใส่ออกไปข้างนอกตอนวันหยุด) คือมันโชวมากเกินไปจนดูแล้วแบบเอ่อ… อย่ากลับบ้านดึกนะ สองคือมันจะเป็นการแบ่งวรรณะคนรวยคนจนอย่างเด่นชัด สามคือประเด็นที่สำคัญสุดการเปรียบเทียบ และจะเป็นข้ออ้างในการบูลี่เพิ่มขึ้นได้ด้วย”

แต่ใช่ว่าฝั่งชุดนักเรียนจะไม่มีประเด็นปัญหานะ อย่าง คุณ Maew Maew ก็ยืนยันว่าอยากให้แต่งเครื่องแบบนักเรียนต่อไป แต่ก็มีปัญหาว่า  “เดี๋ยวนี้โรงเรียนบังคับซื้อฟอร์มของโรงเรียนเองราคาแพงไปค่ะ ไม่รวมค่าปักชื่อ เปิดเทอมทีจนค่ะ” ก็น่าสนใจเหมือนกันว่า ชุดนักเรียนจะช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดได้จริงหรือไม่

และเหตุผลสุดเก๋ของฝ่ายชุดนักเรียนต้องยกให้คนนี้เลย คุณ Thanadon B Elapidae ที่บอกว่า “ไม่มีชุดนักเรียนแล้วอีกหน่อยทำงานจะมีงาน Staff Party Back to School ได้ไงล่ะ” อันนี้โดน

 

ฝ่ายขอเลือกชุดไปรเวท

มาฝ่ายชุดไปรเวทกันบ้าง ก็มีเหตุผลที่น่ารับฟังอยู่ไม่น้อย เริ่มที่ คุณ Pcornmp Pinkshiro “การใส่ชุดนักเรียนทำให้ความคิดของคนไม่กระเตื้องไปไหน ในทางกลับกันชุดไปรเวททำให้ทุกคนได้ลองคิดลองทำ” เช่นเดียวกับ คุณ Mark Parinya ที่ให้เหตุผลว่า “ชุดไปรเวทดีกว่า มีอิสระให้เด็กได้คิดบ้าง อย่าเอาแต่ตีกรอบไปสะทุกเรื่อง เข้าใจว่าอยากให้ดูเรียบร้อย แต่บ้างที มันก็เป็นความยุ่งยากที่ไม่จำเป็น” ซึ่งสอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่ต้องการให้คนคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเราตีกรอบกันตั้งแต่ชุดนักเรียนแล้ว คนรุ่นใหม่คงไม่สามารถคิด หรือ ทำอะไรอย่างสร้างสรรค์ได้จริงหรือไม่

ส่วนคุณ Peerasit Temmeesri ก็นำเสนอวิธีที่ค่อนข้างประนีประนอม คือ “อยากให้ทางกระทรวง ยกเลิกกฎที่บังคับให้ทุกโรงเรียน-มหาลัยต้องมีเครื่องแบบและบังคับให้ผู้ศึกษาทุกคนต้องใส่ ให้แต่ละสถาบันมีอิสระที่จะตัดสินใจด้วยตนเองครับ เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องภายใน ให้ทางสถาบันและผู้ศึกษาร่วมกันตัดสินใจเอง ว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องบังคับให้ใส่เครื่องแบบ พูดง่ายๆคือ โรงเรียนของใครของมัน ควรให้โหวตกันภายใน ตัดสินใจกันเองดีกว่าครับว่าจะเอายังไง เพราะพื้นฐานแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน” ซึ่งก็ถูกเหมือนกันนะครับ เพราะแต่ละโรงเรียนก็มีแนวทางของตัวเอง เข้าใจวัฒนธรรม และเข้าใจนักเรียนของตัวเอง รู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ

ลองมาดูความคิดของเด็ก ๆ กันบ้าง น้อง Arnontawat Kaownachaimongkol เชียร์ชุดไปรเวท โดยบอกว่า “เพราะเสื้อผ้าและหน้าผมไม่ได้ทำให้เราเก่งขึ้นแต่อย่างใด มีระเบียบขึ้นหรอ? ไม่ ดูอย่างการแซงคิว มอไซค์บนฟุตบาทสิ ขณะที่ ต่างประเทศ ไม่ได้เคร่งแบบประเทศเรา แต่ทำไมมีคุณภาพกันจัง”  และน้อง I am Sugarfree ก็เล่าว่า “ทุกวันอังคารโรงเรียนหนูก็ใส่ไปรเวทนะ แล้วหนูก็ชอบด้วย เพราะมันแต่งได้หลากหลายดี แต่ก็อยู่ในขอบเขตนะเพราะถ้ามันเวอร์เกินก็ไม่ใช่”

และสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างคุณ Wanwit Niampan ก็ยกประเด็นเรื่องบุคลิกภาพไว้น่าสนใจว่า “เด็กควรต้องมีทักษะการแต่งกายและปรับบุคลิกภาพได้ด้วย ไม่ใช่บังคับไปหมดทุกอย่าง เราคิดว่าเรื่องการแต่งกายคือบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง การให้เด็กเรียนรู้การปรับบุคลิกภาพตั้งแต่เขายังเด็ก ๆ นี่คือดีเลยนะ และเขาจะเรียนรู้ว่าการแต่งกายให้เหมาะสม ถูกกาลเทศะ”

 

หลังจากพิจารณาเหตุผลของทั้งสองฝ่ายแล้ว มาชมผลการโหวตกัน

ร้อยละ ๕๕ร้อยละ ๔๕

 

แต่ละฝ่ายก็มีเหตุผล มีแนวคิดที่น่าสนใจ ที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้จริง ๆ นะ ที่สำคัญการนำเสนอความคิดเห็นแบบนี้จะทำให้สังคมของเราเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ส่วนผลการโหวตนั้น ก็ต้องยอมรับว่าสูสีคู่คี่กันมาก แต่สำหรับสมาชิก Typeไทย ที่มีร่วมโหวตนั้นคะแนนเทไปทาง ชุดนักเรียนร้อยละ ๕๕ เฉือนเอาชนะชุดไปรเวทไปไม่มาก ส่วนอนาคตกระทรวง และแต่ละโรงเรียนจะปรับตัวอย่างไร จะเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งตัวได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป