กำเงินเดือนให้มั่น ไม่หวั่นภาษีสังคม

ขึ้นชื่อว่าเป็น “มนุษย์เงินเดือน” ชื่อก็บอกโต้งๆ อยู่แล้วว่าเงินมาเป็นเดือนๆ และส่วนใหญ่ก็มีเรื่องตลกร้าย คือเงินเดือนก็ถูกใช้หมดภายใน ๑ เดือนเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าจัดสรรปันส่วนดี ๆ มีเงินออมและเงินใช้ในสัดส่วนเป๊ะ ๆ ทุกเดือนก็ว่าไปอย่าง แต่ก็ดันมีเซอร์ไพรส์แบบไม่ทันตั้งตัวที่เข้ามาได้แทบทุกเดือน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ภาษีสังคม”

งานแต่งของลูกน้องเก่า งานบวชลูกชายคนที่ ๕ ของเจ้านาย แม่ยายของเพื่อนเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ลูกค้าคนสำคัญทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เมเนเจอร์ชวนฉลองวันเปิดร้านกาแฟ แก๊งเพื่อนชายชวนสมทบทุนซื้อของขวัญให้น้องฝึกงาน
ป้าแม่บ้านเรี่ยไรเงินไปสร้างรูปปั้นตะขาบยักษ์ที่บ้านเกิด ฯลฯ

โอกาสพิเศษ (ของคนอื่น) เหล่านี้ ถ้าเห็นซองกระดาษเปล่าๆ ลอยมาแต่ไกล เงินของเราก็แทบจะลอยออกไปจากกระเป๋าแบบเบลอๆ ทุกที เราเลยมี “๕ วิธีรับมือกับภาษีสังคม” ที่ใช้ได้ผล จากประสบการณ์ตรงของเหล่ามนุษย์เงินเดือนมาฝากกัน

กันเงินไว้ล่วงหน้า : วิธีที่เบสิคที่สุดและรอบคอบที่สุด คือการทำใจไว้ก่อน แล้วหักเงินเดือนแต่ละเดือนเอาไว้ล่วงหน้า โดยสัดส่วนที่หลายคนรับได้ คือ ๕ – ๑๐ % ของเงินเดือน สมมติได้รับเงินเดือนอยู่ที่  ๒๐,๐๐๐ บาท ก็ดึงมาเก็บไว้เลย ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ บาท ส่วนเดือนไหนโชคดีไม่มีงาน (แบบนี้) เข้า ก็ถือว่าได้เก็บเงินไว้ก่อนก็ยังดี เผลอๆ ปลายปีอาจจะกลายเป็นเงินออมก้อนโตของเราก็ได้

 

เรียงลำดับความสนิท : ถ้าเราไม่สามารถใส่ซองหรือไปลงเงินกับทุกคนที่เข้ามาได้ วิธีนี้ก็เป็นวิธีคัดกรองได้อย่างดี คือเลือกให้เฉพาะคนที่สนิท ๆ เท่านั้นจริง ๆ สมมติถ้าญาติห่างๆ ของแม่บ้านคนที่ ๗ ของออฟฟิศที่นานๆ จะได้เห็นหน้ากันสักที จะบวช ก็อาจไม่จำเป็นต้องใส่ซองให้เขาเลยก็ได้ เว้นเสียแต่ว่าจวนตัวจริงๆ ก็ใส่ในจำนวนเงินที่ไม่ต้องมากมายไปแทน

 

ฝากซอง = หารสอง : งานเลี้ยงบางงานอาจเป็นงานที่เราไม่อยากไป ไม่อยากใส่ซองด้วยซ้ำแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เหล่าพนักงานออฟฟิศมือโปรส่วนใหญ่แนะนำให้ “ฝากซอง” เพราะคุณสามารถใส่จำนวนเงินเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เช่นในงานแต่งงานที่ปกติอาจไปร่วมงานและใส่ซองอยู่ที่ ๘๐๐ – ๑,๐๐๐ บาท ก็อาจฝากซองให้เพื่อนถือไปให้โดยจ่ายเพียง ๕๐๐ บาท เพราะถือว่าเราไม่ได้ไปรับประทานอาหารในงานของเขา

 

จดให้หมด : วิธีนี้ฟังดูเหมือนเป็นคนขี้เหนียว แต่ก็ช่วยได้เยอะจริงๆ เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะหาทางปฏิเสธได้ด้วย เช่น ลูกชายคนที่ ๔ ของเจ้านายออฟฟิศเก่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ซองหรือไปร่วมงานแล้วก็ได้ เพราะตระกูลนี้เราได้ร่วมงานแต่งของลูก ๆ เขามาตั้ง ๓ คนก่อนหน้านี้แล้ว หรือป้าแม่บ้านอาจจะนำซองกฐินผ้าป่ามาให้เราเป็นวัดที่ ๔  ของปี โดยที่เราไม่เคยรู้จักวัดเหล่านั้นจริง ๆ เลยสักแห่งเดียว ก็มีเหตุผลพอที่จะปฏิเสธอย่างนุ่มนวลได้

 

พันหมื่นเหตุผล : ข้อสุดท้าย หากคุณใจไม่แข็งพอที่จะพูดตรงๆ นี่เป็นวิธีที่พบว่าถูกใช้บ่อยที่สุดและได้ผลมากที่สุด โดยเฉพาะเวลาถูกชวนไปสังสรรค์ คือการปฏิเสธด้วยเหตุผลธุระต่างๆ ไม่ว่าจะพาหมาไปหาหมอ นัดช่างประปาไว้ที่บ้าน หมอฟันเลื่อนนัด ต้องไปรับพี่น้องอาม่าที่สนามบิน ฯลฯ เหตุผลเหล่านี้ยังพอจะทำให้รอดตัวไปได้เสมอ แค่อย่าซ้ำกันบ่อยก็พอ (ชี้โพรงให้กระรอกสุดๆ)

 

ไม่ว่าจะมีเคล็ดลับหรือเคล็ดไม่ลับมากี่ข้อ สุดท้ายแล้วทางที่ดีที่สุดก็คือการ “พูดตรง ๆ” ไปเถิด เพราะการพูดว่า “ช่วงนี้ผมช็อต” หรือ “เก็บเงินโปะบ้านอยู่ครับ” ก็ย่อมดีกว่าการโกหกแน่นอน โดยเฉพาะถ้าโกหกแล้วเผลอโป๊ะแตกด้วยการไปเช็คอินในโรงหนังแทน อย่างงี้ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ ยังไงขอเป็นกำลังใจให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนก้าวข้ามผ่านภาษีสังคมกันให้ได้ … เพราะเรายังมี “ภาษีจริงๆ” ที่ยังต้องจ่ายเพื่อนำไปพัฒนาประเทศชาติกันอีกเยอะเลย. (/me ยิ้มแห้งก่อนบอกลา)