ชวน “ทิด” มา “ทอล์ค” เรื่องธรรมะแบบป๊อบ ๆ “บวชแล้วไงวะ?”

“การเป็นพระขนาดผมบวชสั้น ๆ ยังรู้สึกแบบมีอำนาจมากเลยนะ พูดแล้วมีคนฟัง นั่งสูงกว่าชาวบ้าน ความรู้สึกมันเป็นนะ หมายถึงว่าสันดานคนมันเป็นอย่างนั้นน่ะ พอมีคนกราบไหว้ เรารู้สึกอยากจะสอน บางทีมันหลงน่ะ บางทีมันลืม พอเราหลงมาก ๆ เราก็สะสมความรู้สึกแบบนั้น”

ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ (ทิดเม้ง) ทิดทอล์ค

เมื่อมีใครสักคนตั้งคำถามว่า การบวชจำเป็นแค่ไหนสำหรับสังคมไทย? ก็พอดีกับที่ Typeไทย ได้มีโอกาสไปเจอกับ “พี่เม้ง” ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ครีเอทีฟ ภัณฑารักษ์ และวิทยากรในรายการทิดทอล์ค จึงต้องพุ่งเข้าถามความเห็นในฐานะคนที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วว่า “บวชแล้วไงวะ?” ซึ่งพี่เม้งก็ได้แบ่งปันความเห็นเด็ด ๆ แบบที่บางครั้งเองเราก็ยังคาดไม่ถึง

เมื่อลองโยนคำถามไปแบบเบสิกว่า การบวชคืออะไร? พี่เขาก็ตอบมาล้ำ ๆ ว่า

“การบวชเรียนก็เหมือนไปเรียนต่อเมืองนอก แต่อันนี้คือเรียนเมืองใน คือการกลับเข้าไปคุยกับตัวเอง การรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา เป็นวิถีหนึ่งซึ่งก็เป็นวิถีที่ดีเป็นวิถีที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเรียนรู้เรื่องภายใน เรื่องจิตวิญญาณ”

ถึงคำตอบของคนที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วจะล้ำขนาดนี้ แต่สิ่งที่ทีม Typeไทย พบเห็นเป็นประจำและคงสงสัยไม่ต่างจากคนอื่น ๆ คือสภาพความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ทุกวัน ที่กลับพบว่ามีการบวชในหลาย ๆ แบบที่เป็นงานรื่นเริงสนุกสนาน หรือวัตถุประสงค์ในการบวชที่ชวนให้สงสัยว่า บวชหนีหนี้ บวชหนีคดีหรือเปล่า บวชแล้วยังคงทำตัวเหมือนเคย พระเดินห้าง พระปาร์ตี้ มีเยอะแยะ ซึ่งพี่เม้งมองว่า

“น่าจะเป็นเพราะว่าเรายังมองการบวชเป็นเพียงพิธีกรรม เป็นเพียงประเพณี วัฒนธรรมมากกว่า”

อีกประการหนึ่งน่าจะเป็นเพราะขาดความเข้มแข็งของสังคม ของคณะสงฆ์ ของพุทธบริษัท ทั้งพระ ฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งแล้วการบวชในลักษณะที่เป็นแนวบันเทิง บวชเพื่อผลประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากบวชเรียนก็คงไม่เกิดขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพี่เม้งยังขยายความต่อไปว่า พิธีกรรมไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่โดยเนื้อแท้แล้วพิธีกรรมก็ยังคงมีหน้าที่และมีความสำคัญอย่างมากในการนำไปสู่สติปัญญา โดยพี่เม้งบอกว่า

“พิธีกรรมก็เหมือนหีบห่อครับ คือห่อที่มันกำลังดี ก็เหมือนกับซีเควนซ์ครับ เหมือนเราคิดซีเควนซ์ในการค่อย ๆ แกะ เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกได้ แต่พิธีกรรมที่มันมากเกินไปมันทำให้เปลือกมันหนา แก่นมันก็เลยไม่เห็น เพราะเราไปเต้นรำมากไป พอไปสนุกมากไปแก่นที่มันทำให้รู้สึกมีความสุขแบบแท้จริงมันหายไป”

นอกจากนี้จากประสบการณ์ของคนที่ได้มีโอกาสบวชเรียน จึงมีความเข้าใจในสถานะของวัดและพระว่า ในบางเวลาก็ต้องเห็นใจพระ เนื่องจากพิธีกรรมหลาย ๆ อย่าง กิจกรรมบันเทิงประกอบพิธีหลาย ๆ อย่าง ก็เป็นความต้องการของญาติโยม ซึ่งพระกับญาติโยมชาวบ้านต้องอยู่ร่วมกัน

“ผมเชื่อว่าพระท่านประนีประนอมเยอะนะครับ เพราะท่านก็อยู่ตรงนั้น แล้วการเปลี่ยนคนจำนวนมากมันก็ยากนะครับ ท่านก็ปล่อยไปบางอย่าง แต่ในความเป็นจริงคือ บวชบางที่ง่ายกว่านั้นเยอะ เรียบง่าย เข้าสู่ประเด็น การเดินเวียนรอบโบสถ์สามรอบก็เป็นการทีเซอร์นะ คือเป็นการเตรียมตัว คือ ถ้าเดินเข้าโบสถ์เลยมันไม่รู้สึกนะ การค่อย ๆ เดินเหมือนจงกรมสามรอบมันกำลังนิ่ง แล้วพอเข้าไปสู่โบสถ์ความรู้สึกมันดีมากเลยนะ การเตรียมเป็นนาคก่อนมันดีมากเลยนะสำหรับผม”

เพราะการได้คุยกับคนที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วทำให้ได้รับมุมมองอะไรใหม่ ๆ พอสมควร นอกจากภาพชวนให้ปลงของงานบวชบางแบบตามสื่อต่าง ๆ จนต้องถามจากใจจริงว่า การบวชเป็นพระสามารถเปลี่ยนคนได้จริงหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของทิดอย่างพี่เม้งย่อมตอบอยู่แล้วว่า เปลี่ยนแน่นอน เพียงแต่ว่าคำตอบของพี่เม้งล้ำไปกว่าคำตอบทั่ว ๆ ไป พี่เม้งบอกว่า

“คนไม่ดีเปลี่ยนเป็นคนดีอันนี้แน่นอน ถ้าเข้าไปศึกษาแล้วปฏิบัติดีขึ้นแน่นอน แต่คนที่ดีเปลี่ยนเป็นคนไม่ดีอันนี้แน่นอนกว่า”

เอ๊ะ…ยังไง การบวชพระคือการเปลี่ยนคนดีให้ไม่ดีอย่างนั้นหรือ?

พี่เม้งอธิบายว่า ที่บอกว่าเปลี่ยนคนดีเป็นคนไม่ดี ไม่ได้แปลว่าบวชเข้าไปแล้ว ไปกอบโกยหาโอกาสหาผลประโยชน์จากการเป็นพระ แต่หมายถึงการที่ทุกคนบวชแล้ว ศึกษาธรรมแล้วคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น อันนี้คือปัญหา

“คนดี ๆ ควรจะไปบวชเพื่อให้รู้ว่า เราก็ไม่ได้ดีกว่าคนอื่น บวชแล้วเราจะรู้ว่าเราเป็นคนไม่ดี เพื่อรู้ว่าเราไม่ได้ดีกว่าใครน่ะ เรายังต้องปรับปรุงเหมือนกัน และเราควรจะเห็นเพื่อมนุษย์หรือคนอื่นน่ะว่าเราเองก็ไม่ได้ดีกว่าเขา ปัญหาคือทุกคนบวชแล้วติดดีใช่มั้ย ติดดี มีธรรมะแล้วชอบสอน ออกมาชอบมองทุกคนไม่ดีหมดเลย พอเราติดดีแล้วเราไปตัดสินว่าทุกคนไม่ดีปัญหาก็เกิดขึ้น ทำให้คนไม่อยากเข้าหาธรรมมะ คนรังเกียจ”

หรือแม้แต่ประสบการณ์การบวชพระของพี่เม้งเองก็ได้เรียนรู้ถึงความอ่อนแอในจิตใจที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แม่จะเป็นเพียงการบวชสั้น ๆ พี่เม้งยังรู้สึกแบบมีอำนาจมาก รู้สึกว่าพูดแล้วมีคนฟัง นั่งสูงกว่าชาวบ้าน ได้เห็นในจิตใจได้เห็นสันดานคนว่าเป็นอย่างไร พอมีคนกราบไหว้ก็รู้สึกอยากจะสอน

“บางทีมันหลงน่ะ บางทีมันลืม แล้วเราก็ พอเราหลงมาก ๆ เราก็สะสมความรู้สึกแบบนั้น บางทีมันเผลอน่ะ เพื่อนให้คุณเป็นหัวหน้าห้องน่ะ สักพักคุณก็ลืมว่าเมื่อก่อนคุณก็ไม่ได้เป็นหัวหน้าห้อง เราก็ไปสั่งเพื่อน พออยู่นานมันก็สะสม”

แล้วจัดการอย่างไร? พี่เม้งบอกว่า เป็นเรื่องที่จัดการยากมาก หากขาดครูบาอาจารย์ที่ดีคอยให้คำชี้แนะ และตักเตือน ต้องมีเพื่อนพระที่ดี ในพุทธศาสนาจึงมีรูปแบบการตักเตือนที่เรียกว่า “การปวารณา” และ “การปริวาส” ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ายากจริง ๆ หากขาดครูบาอาจารย์ก็อาจจะเตลิดเปิดเปิงไปได้เลย

เมื่อเราถามว่าการบวชนั้นยังสำคัญสำหรับสังคมไทยใช่หรือไม่ พี่เม้งก็ยังคงยืนยันหนักแน่นว่าในมุมมองของเขานั้น การบวชเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับทุกคนในยุคสมัยนี้ ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ทุกคนควรได้เรียนรู้ภายในจิตใจของตัวเอง ซึ่งทำให้เราต้องถามต่อไปว่า แล้วจะทำอย่างไรให้การบวชนั้นเป็นการบวชเรียนจริง ๆ ลด ละ เลิก พิธีกรรม หรือกิจกรรมบางอย่างที่เป็นเปลือกหนา ๆ จนเข้าไม่ถึงแก่น พี่เม้งมองว่า ทั้งพุทธบริษัท หมายถึง พระ และฆราวาสต้องช่วยกันสนับสนุนวัดที่ดี ให้วัดที่ดีเข้มแข็ง โดยเฉพาะพระ และผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้วก็ควรช่วยกันแสดงให้สังคมเห็นด้วยการปฏิบัติ

เพราะผ่านการบวชเรียนมาแล้วจึงรู้ว่า พระดี ๆ วัด ๆ ยังมีอยู่อีกมาก แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครตัวจริงตัวปลอม พี่เม้งก็สรุปส่งท้ายพร้อมรอยยิ้มให้ว่า

“ธรรมะที่มันอยู่ในเนื้อในตัวน่ะ เขาแสดงธรรมโดยที่เขาไม่พูดอยู่แล้ว เขาแสดงธรรมโดยการทำน่ะครับ”