รู้จัก ๕ ไอเท็มสามัญในชีวิตประจำวันของคนไทย ที่อิมพอร์ตจากเมืองเบียร์

“ความเป็นไทย” และ “ความเป็นเยอรมัน” มีความคล้ายคลึงกันบ้างและแตกต่างกันบ้าง อาจเป็นเพราะสองชาติมีสัมพันธไมตรีกันมาอย่างยาวนาน จึงมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ จนมีความผูกพันกันมากกว่าที่ตาเห็น

หรือบางครั้ง ตาเราก็เห็นอยู่ทุกวัน แต่ไม่เคยรู้ว่าของเหล่านี้ …. มาจากไหน?

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)  และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ร่วมกันนำเสนอนิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” Invisible Things ชวนสำรวจของใช้ประจำวัน และวิถีชีวิตอันเป็นลักษณะเฉพาะของคนในท้องถิ่น ผ่านคำถามว่าอะไรคือความเป็นไทย และอะไรคือความเป็นเยอรมัน

สามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ ณ ห้องแกลเลอรี่ ชั้น ๑ อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ (อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

แต่ถึงบอกไปว่ามีนิทรรศการเข้าชมฟรีนะ ก็คงไม่มีใครสนใจไป Typeไทย ก็เลยนำของ ๕ สิ่งที่อยู่ในนิทรรศการ มาเล่าสู่กันฟัง พอเป็นน้ำจิ้มให้ได้ทราบกันว่า นิทรรศการนี้เจ๋งอย่างไร ตามมาเลย

๑. ครีมนีเวีย

คุ้น ๆ ไหม ครีมตลับสีน้ำเงินสุดคลาสสิกที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่รุ่นคุณย่า คุณยาย ใช้ต่อมาจนถึงรุ่นแม่ จนถึงวันนี้ก็ยังขายดี รู้กันหรือเปล่าว่า ครีมชนิดนี้อิมพอร์ตมาจากเยอรมัน เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดย ออสการ์ ทรอปโลวิตซ์ และที่ตั้งชื่อว่า “นีเวีย” ก็มาจากภาษาละตินที่หมายถึง “หิมะ”

นอกจากจะใช้ทาบำรุงเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวแล้ว ยังช่วยฟื้นฟู บำรุงผิวให้เนียมนุ่ม ใช้พอกหน้าก่อนนอนเป็นไนท์ครีม ใช้ลบเครื่องสำอาง และสามารถใช้บำรุงรอบดวงตา เป็นครีมที่ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน และมาจากประเทศเยอรมัน

๒. ลูกฟุตบอล

กีฬายอดนิยมของคนไทยคือ “ฟุตบอล” แม้จะไม่รู้ต้นกำเนิดที่แท้ทรูว่ากีฬาชนิดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ ๆ ก็คือ ลูกฟุตบอลสมัยใหม่แบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันผลิตโดย “อดิดาส” ผู้ผลิตลูกฟุตบอลสัญชาติเยอรมัน และเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลกปี ๑๙๗๐ ที่ประเทศเม็กซิโก ลูกฟุตบอลนี้ยังได้รับการตั้งชื่อว่า “เทลสตาร์” เพราะการแข่งขันในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์

หลายคนอาจสงสัยแล้วก่อนหน้านั้นลูกฟุตบอลเป็นอย่างไร ตอบให้เลยว่า แต่เดิมลูกฟุตบอลทำจากกระเพาะปัสสาวะหมูเย็บหุ้มด้วยแถบหนัง ๑๒ แถบ เวลาฝนตกจึงอุ้มน้ำและเสียทรง ลูกฟุตบอลของอดิดาสจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

๓. เบียร์ขวด

ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของเบียร์อาจย้อนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเยอรมันเป็นประเทศที่คลั่งไคล้เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นอย่างมาก และให้ความสำคัญเปรียบได้ประหนึ่งกับรัฐธรรมนูญของประเทศ

คนไทยเองก็รับเอาวัฒนธรรมเครื่องดื่มชนิดนี้มาจากประเทศเยอรมัน และโรงเบียร์แห่งแรกในประเทศไทย ก็นำเข้าเครื่องจักรผลิตเบียร์ รวมถึงสูตรการหมักเบียร์มาจากประเทศเยอรมัน

๔. นูเทลล่า

โปรดอย่าถามว่า “นูเทลล่า” นำมาประกอบเป็นเมนูอร่อย ๆ อะไรได้บ้าง เพราะตั้งแต่แม่บ้านไปจนถึงเชฟใหญ่ต่างก็ชอบใช้นูเทลล่าในการทำขนมสุดอร่อยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น บราวนี่ คัพเค้ก เครป คุกกี้ หากมีส่วนประกอบของนูเทลล่าแล้วรับรองว่าอร่อยเด็ด

งั้นนูเทลล่ามาจากเยอรมันหรือเปล่า? ตอบเลยว่าไม่ใช่ เพราะนูเทลล่าเป็นผลงานการคิดค้นของคนทำขนมปังชาวอิตาเลียนที่ชื่อว่าแฟร์เรโร แต่คนเยอรมันไม่แคร์และนูเทลล่าก็เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการกินของคนเยอรมันไปแล้ว ว่ากันว่า ไม่มีคนชาติใดที่จะรักช็อกโกแลตทาขนมปังนูเทลล่ามากไปกว่าคนเยอรมัน แต่คนเยอรมันก็ยอมยกเว้นไว้ว่าคนไทยก็รักช็อกโกแลตชนิดนี้เหมือนกัน

๕. แฟนต้าน้ำแดง

คนไทยชอบดื่มแฟนต้าน้ำเขียวมากกว่ารสอื่น ๆ แต่ทำไมนะรสชาติที่ขายดีที่สุดของแฟนต้ากลับเป็น “แฟนต้าน้ำแดง” รสสตรอเบอรี่ไปได้ แถมส่วนใหญ่ยังซื้อไปเปิดทิ้งไว้เป็นล้าน ๆ ขวด มีหลอดเสียบให้พร้อมวางไว้ตามที่ต่าง ๆ โดยไม่มีใครดื่ม เอ๊ะ…หรืออาจจะมีนะแต่ไม่ใช่คน

แต่พีคที่สุดคือสิ่งนี้ เพราะ “แฟนต้า” ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศเยอรมันโดยใช้ชื่อว่า “แฟนตาซี” ต่อมาภายหลังโคคา-โคล่าจึงได้ซื้อสิทธิ์ในการผลิตแฟนต้าและผสมรสชาติใหม่ ๆ ออกวางจำหน่ายและโด่งดังไปทั่วโลก

แค่ของ ๕ อย่างนี้ก็ทำให้พอจะมองออกแล้วใช่ไหมว่า ไทย-เยอรมัน นั้นมีความใกล้ชิดกันอย่างมากจริง ๆ

 

แต่นอกจากสิ่งของที่ได้ยกมายังมีเรื่องราวสนุก ๆ อีกมากมายที่แสดงถึงตัวตนของความเป็นไทย และตัวตนแบบเยอรมัน ใครที่อยากไปรู้เรื่องราวสนุก ๆ แบบไทย-เยอรมัน ตามไปดูของจริงได้ที่  นิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” Invisible Things ตั้งแต่วันนี้ ถึง ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ ณ ห้องแกลเลอรี่ ชั้น ๑ อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ (อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก)