ทำบุญแบบไหน…ถึงจะได้บุญแบบติดจรวด

คุณเคยมีเรื่องฉงน ปนสงสัย เกี่ยวกับการ “ทำบุญ” แบบไท้ยยยย…ไทย บ้างหรือเปล่า?

มาดู ๓ ประเด็นนี้ แล้วเช็คตัวเองว่าเราคิดหรือกำลังทำแบบไหนอยู่… และเราจะได้บุญจริงหรือเปล่า?

 

๑. ทำออนไลน์ vs ไปถึงที่

– ฝั่งนึงบอกว่า สมัยนี้ทำบุญออนไลน์ง่ายสุดๆ ไม่ต้องตากแดดตากฝนเดินทางไปถึงที่หมาย แค่โอนตึ๊ด! เดียวผ่านแอพในมือถือก็ง่ายสุดๆ วันเดียวจะทำสัก ๑๐ ที่ก็ยังได้ เทคโนโลยีเปลี่ยน โลกเปลี่ยน จะทำบุญก็ต้องเปลี่ยนตาม ถึงจะเวิร์ค!

– สายบุญออริจินอล ขอยี้และกลอกตาใส่การทำบุญออนไลน์ เพราะนี่คือการทำบุญของคนขี้เกียจ ไม่แสดงถึงความพยายามในการทำบุญ… ถ้าจะมาไม่มาทั้งใจ ก็กลับไปเสียดีกว่า!

 

๒. เป็นตัวตั้งตัวตี vs เป็นคนสมทบทุนเฉยๆ

– วิธีทำบุญที่ได้กุศลแรงกล้า คือการวางตำแหน่งตัวเองให้เป็น “สะพานบุญ” แล้วแบกพุ่มกฐินหรือถือมัดซองผ้าป่าเดินไปหาทุกโต๊ะในออฟฟิศได้เลย ยิ่งมีคนให้เงินทำบุญมาเยอะเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้กุศลแรงเท่านั้น!

– แต่ “นักใส่ซองสายเออออ” (อ่านว่า เออ-ออ) ไม่คิดแบบนั้น ขอแค่ยื่นซองมา ฉันเตรียมเงินเพื่อทำบุญกรุบกริบแบบนี้เอาไว้ทุกเดือนอยู่แล้ว แต่ขอใส่แบบที่ไม่ลำบากตัวเองก็แล้วกัน เดือนไหนช็อตๆ ก็อย่ามาจี้ เพราะไม่มีเงินให้จ้า

๓. ทำบุญแล้วขอพรเน้นเรื่องที่ต้องการเยอะๆ ดีกว่าทำไปเฉยๆ

– ด้อยเรื่องไหน อยากเสริมเรื่องไหน “นักบุญสายเน้น” ก็จะคว้าปากกาไฮไลต์แล้วขีดไปที่ประเด็นเด็ดของตัวเองเสมอ โดยเฉพาะเวลาอธิษฐานจิต ให้บอกพระท่านไปตรงๆ เลยว่าจะเอาเรื่องนี้ ไม่อ้อมค้อม เพราะเรื่องบุญ…รอไม่ได้!

– สายบุญอีกฝั่งส่ายหัว ขอแค่ทำบุญให้จิตใจสงบร่มเย็นก็พอ ส่วนจะอยากให้เรื่องไหนดีขึ้น ขอเป็นหน้าที่ของลูกช้างเอง เพราะถ้าขอเฉพาะเรื่อง กลัวจะเป็นการบนบานศาลกล่าว ผิดคอนเซพต์ของการทำบุญไปหน่อย ขอบายจ้ะ

เจอ ๓ ประเด็นนี้เข้าไป ถ้าให้เถียงกันว่าแบบไหนถูก คงต้องเถียงกันยันลูกบวช เราจึงขอนำคำสอนส่วนหนึ่งของท่าน ว.วชิรเมธี มาฝาก จะได้ลองเช็คไปทีละประเด็น แถมเผื่อใช้ในอนาคตด้วย โดยท่านได้อธิบายไว้ว่า… พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำบุญด้วยพื้นฐานที่ง่ายที่สุด แทบไม่ต้องไปจำอย่างอื่นเลย นั่นคือการทำบุญด้วย “เจตนาอันบริสุทธิ์” ใน ๓ กาล (๓ ช่วงเวลา) อันได้แก่

ก่อนทำ – ให้มีใจเลื่อมใสในการทำบุญนั้นก่อน หมายถึงอยากทำจริงๆ ไม่ได้มีใครบังคับให้ทำ ไม่ได้ทำเพื่อหวังว่าจะเกิดผลอะไรนอกจากจิตใจที่ตั้งมั่นจะทำ

ขณะทำ – ให้มีใจยินดี หมายถึง รู้สึกอิ่มเอมที่ได้ทำ ไม่ทรมานใจ ไม่ฝืนใจ ไม่เสียดายอะไร

หลังทำ – ให้มีใจเบิกบาน หมายถึง พึงพอใจที่ได้ทำไป รู้สึกดีแล้วที่ได้ทำ เกิดความสบายใจ

เมื่อสรุปหลักใหญ่ใจความแล้ว การทำบุญแล้วจะได้บุญหรือเปล่า ไม่ได้อยู่ที่สถานะของผู้ทำ, วิธีการ หรือจำนวนเงินปัจจัยที่ทำลงไป แต่อยู่ที่ว่าเรา “เลื่อมใส-ยินดี-เบิกบาน” ในการทำบุญนั้นหรือเปล่าต่างหาก

รู้อย่างนี้แล้ว… ต่อไปจะทำบุญที่ไหน อย่างไร ก็ได้บุญแน่นอน!