๑๐ พระราชกรณียกิจ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริ และโครงการต่าง ๆ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

โดยนอกเหนือจากพระราชกรณียกิจทั้งที่เป็นพระราชพิธี และรัฐพิธี ในฐานะองค์พระประมุขแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังมี โครงการต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริ มูลนิธิในพระบรมราชานุเคราะห์ และพระกรณียกิจเพื่อประชาชน ที่ทรงพระราชทานคำแนะนำ ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่ทรงดำเนินการด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติเนื่องในมงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ จึงได้รวบรวมพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่น่าสนใจจำนวน ๑๐ พระราชกรณียกิจมานำเสนอให้ได้รับรู้โดยทั่วกัน

 

๑. มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)

เริ่มต้นจาก โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่ประพฤติดีมีความสามารถในการศึกษา แต่มีฐานะยากจน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงระดับปริญญาตรี ต่อมาจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งเป็น มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในโครงการ

 

๒. มูลนิธิกาญจนบารมี

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งภายใต้โครงการกาญจนบารมีและพระราชทานนามว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณธัญบุรี” จังหวัดปทุมธานี เป็นศูนย์กลางในการเกื้อกูลบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปีที่  ๕๐ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้น  และได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งมาจนถึงปัจจุบัน

 

๓. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

ช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ประเทศไทยประสบปัญหาความขาดแคลนการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้พระราชทานโครงการก่อสร้าง “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ขึ้นในท้องที่ห่างไกลทั่วประเทศ ต่อมาทรงตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทำหน้าที่ช่วยเหลือ สนับสนุนการบริหารงานโรงพยาบาลให้สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับจนถึงปัจจุบันมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเกิดขึ้นเป็นจำนวน ๒๑ แห่งทั่วประเทศ

 

๔. โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่

โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นอีกหนึ่งโครงการเชิงรุกที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาการเกษตร ผ่านการร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริมและศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล เพื่อพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถทำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบคลินิกปฏิบัติการสำคัญ ได้แก่ คลินิกพืช คลินิกดิน คลินิกสัตว์ คลินิกประมง คลินิกบัญชี คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์  และ คลินิกกฎหมาย

โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ณ ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ของประเทศ

 

๕. เกษตรวิชญา (ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร บ้านกองแหะ)

เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๓๕๐ ไร่ บริเวณบ้านกองแหะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระราชทานนามว่า “เกษตรวิชญา” (กะ-เสด-วิด-ชะ-ยา) มีความหมายว่า “ปราชญ์แห่งการเกษตร”

๖. โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีรา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ และทรงเยี่ยมราษฎรบ้านกูแบสีรา หมู่ที่ ๔ ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ว่าพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ตลอดจนขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภค – บริโภค ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วน และทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

๗. โครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ ๒ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยะลา

ด้วยทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรและทรงงานในพื้นที่บ่อยครั้ง โดยครั้งหนึ่งราษฎรจากบ้านสันติ ๑ และบ้านสันติ ๒ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันไขปัญหา โดยได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ ๒ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” และพระราชทานวัตถุประสงค์ของโครงการไว้ ๔ ประการ คือ  ความมั่งคงปลอดภัยในชีวิต ความอบอุ่นในครอบครัว การมีอาชีพและที่ทำกินอย่างเหมาะสม และการมีสุขภาพอนามัยและการศึกษาที่ดี

 

๘. โครงการ ๑ ไร่แก้จน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  จังหวัดราชบุรี

โครงการ ๑ ไร่แก้จน เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานที่ดินเพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำกิน พร้อมทั้งมีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการจัดการพื้นที่ เป็นการสร้างชีวิตบนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง รู้จักพัฒนาตนเอง การพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน มณฑลทหารบกที่ ๑๖ จังหวัดราชบุรี ทำหน้าที่เป็นศูนย์ทำโครงการสาธิต พร้อมกับเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกร และประชาชนที่สนใจ

 

๙. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร

โครงการพัฒนาพื้นที่หนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร เป็นอีกหนึ่งโครงการอันเกิดจากตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงไปเยี่ยมราษฎรแล้วพบว่ามีปัญหาการชลประทาน ปัญหาป่าไม้เสื่อมโทรม ราษฎรในพื้นที่ขาดรายได้  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ด้วยการขุดลอกหนองอึ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ พร้อมการพัฒนาปรับปรุงดินและพื้นที่แห้งแล้งด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝก รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบในพื้นที่กว่าสามพันไร่ โดยราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมและร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่ จนสามารถแก้ไขปัญหาได้และต่อยอดความสำเร็จของโครงการมาจนถึงปัจจุบัน

 

๑๐. โครงการอ่างเก็บน้ำซำตมขาว

ภายหลังจากราษฎรในพื้นที่ บ้านห้วยหมากหล่ำ ตำบลทมนางาม อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ได้ยื่นหนังสือถวายฎีกากราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือ เนื่องจากที่ตั้งหมู่บ้านอยู่บนเชิงเขา มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอกับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริถึงแนวทางแก้ไขปัญหาจนเกิดเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำซำตมขาวพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถช่วยเหลือให้ราษฎรบ้านห้วยหมากหล่ำ ได้พ้นจากความแห้งแล้ง ขยายระบบสาธารณูปโภคเข้าสู่หมู่บ้าน ทั้งยังทำให้ราษฎรที่เคยอพยพหนีความทุกข์ยาก เริ่มกลับมาตั้งถิ่นฐานในภูมิลำเนาได้ในที่สุด

 

ทั้ง ๑๐ พระราชกรณียกิจแล้วนำมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายพระราชกรณียกิจทั่วประเทศ แต่ก็นับได้ว่าเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในพระราชหฤทัยที่จะ สืบสาน รักษา ต่อยอด และดูแลอาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุขพ้นจากปัญหาตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ อย่างเต็มกำลัง 

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ