[ไทยไฝว้โพล] ไม่แดนซ์ ไม่มันส์ ไม่รื่นเริง บวชได้ไหม?

คนไทยกับศาสนาพุทธนั้นคู่กัน

คนไทยกับเรื่องบันเทิง รื่นเริง สนุกสนาน ก็คู่กัน

แล้วความบันเทิง กับศาสนาพุทธ คู่กันได้หรือไม่

บางคนอาจว่าแปลก แต่สำหรับคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย บอกว่า

“จะบวชทั้งที ก็ต้องมันส์ดิพี่ ขอแดนซ์ ๆ จัดเต็ม เครื่องเสียงแน่น ๆ ให้นาคมันหน่อย”

หลายปีที่ผ่านมา คนไทยมักได้เห็นงานบวชที่แห่แหนกันยิ่งใหญ่ จัดเต็มเครื่องเสียงให้อึกทึก ประกาศให้โลกลูกว่า “ลูกฉันจะบวชแล้ว” บ้างก็จัดคอนเสิร์ตใหญ่โตชวนคนทั้งตำบลมาเลี้ยงเพราะลูกกำลังจะบวช แน่นอนว่าสิทธิใครก็ทำไป แต่ว่าเหมาะไหมต้องพิจารณา โดยเฉพาะหากจัดงานบวชอย่างเอิกเกริกจนชาวบ้านเขารำคาญจะทำได้ไหม อย่างที่มีข่าวความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาทในงานบวชเนื่องมาจากเสียงดัง และเมาสุรา บ้างก็มีการยิงปืนขึ้นฟ้าในงานบวชจนหลายคนโดนลูกหลงเจ็บไปก็หลายกรณี

หรือหากจะพิจารณากันในความเป็นพุทธ งานบวชจำเป็นต้อง “บันเทิง” ไหม หลายวัดพระท่านไม่ว่า เพราะเป็น “วิถีของชาวบ้าน” และรู้ว่าลูกหลานที่บวชลักษณะอย่างนี้บวชไม่นาน แต่ถ้าอยู่ในชุมชนใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อน มีโรงเรียนหรือโรงพยาบาลอยู่ใกล้ ๆ พระท่านก็จะขอร้องว่าอย่าให้เสียงดังวุ่นวาย

จากข้อสงสัยนี้เองจึงเป็นที่มาของ ไทยไฝว้โพล ในประเด็น ชายไทย บวชกันหนเดียว งานบวชจัดแบบไหนดี?  ระหว่าง “คึกคักเอิกเกริกให้โลกรู้” กับ “สงบเรียบง่ายสันติ”

ซึ่งก็ทำให้เราได้รับรู้ รับทราบความคิดของคนในสังคมไทยที่น่าสนใจหลายอย่างเลยจริง ๆ

 

ความคิดกลุ่มที่ ๑ “ญาติ” มีผลอย่างมาก

คุณ Por Naruemol ตั้งประเด็นขึ้นมาน่าสนใจมากว่า เจ้าตัวน่ะอาจจะต้องการแบบเรียบง่าย แต่ญาติน่ะยอมมั้ย” โดยเฉพาะพ่อแม่ เนื่องจากสังคมในหลายพื้นที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน บ้างก็เป็นญาติกันทั้งหมู่บ้าน การล้มวัวล้มควายบวช เชิญญาติมาร่วมแสดงความยินดีก็เป็นวิถีปฏิบัติมาแต่โบราณ เมื่อผนวกกับยุคสมัยใหม่ที่มีทั้งรถแห่แตรวง งานบวชก็เลยกลายเป็นงานรื่นเริงเพื่อความสุขของพ่อแม่ญาติพี่น้องไปโดยปริยาย ซึ่งมีคุณแม่มาแสดงความคิดเห็นเช่นกันว่า “อยากจัดงานใหญ่ ๆ ให้ลูกชายค่ะเอาแบบปิดอำเภอเลย”

ความคิดกลุ่มที่ ๒ วิถีชาวบ้าน ประเพณีท้องถิ่น

มีหลายความเห็นบอกว่า การจัดขบวนร้องรำทำเพลงแห่นาคเข้าโบสถ์ก็เป็นวิถีปฏิบัติมานานมากแล้ว การบวชไม่จำเป็นต้องเรียบง่ายเสมอไปอยู่ที่วิถีของชาวบ้านในถิ่นนั้น ๆ อย่างที่จังหวัดชัยภูมิก็มีประเพณีแห่นาคโหด ซึ่งก็ทำมาเป็นร้อยปี เพื่อทดสอบความอดทนอดกลั้นของลูกผู้ชายที่จะบวชเพื่อทดแทนพระคุณของพ่อแม่ ก็จัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี เป็นต้น หลายคนที่บวชก็เล่าว่า “ตั้งใจมาบวชไม่ได้อยากที่จะเอิกเกริก แต่พอหลายคนรู้เข้ามาช่วยกันตามวิถีก็เลยเป็นงานใหญ่ได้ไงก็ไม่รู้”้อยไม่เอิกเกริกาควรทำอย่างไร แต่วัดก็จะแนะนำ หรือขอได้แค่ในเขตวัดก็เล

ความคิดกลุ่มที่ ๓ วัดต้องให้คำแนะนำ

เพราะ “วัด” เป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับชุมชน และคนที่มาบวชก็มักจะอยู่ในละแวกนั้น วัดจึงสามารถให้คำแนะนำกับญาติโยมได้ว่าควรทำอย่างไร แต่วัดก็มักจะแนะนำหรือขอให้อยู่ในความสงบได้แค่ในเขตวัด นอกเขตวัดพระเองก็ลำบากใจ ยกเว้นวัดหลัก ๆ ที่มีความเคร่งครัด หรือวัดป่า ก็จะสงบเรียบร้อยไม่สามารถเอิกเกริกได้อยู่แล้ว อย่างที่มีคนบอกว่า “หลายวัดก็บอกว่าทำได้แค่ไหน แต่ถ้าใครตั้งใจบวชจริงจังควรไปวัดป่านะ”

 

สำหรับผลโหวตของ Typeไทย ปรากฏว่า มีคนเห็นด้วยกับงานบวชอย่างเอกเกริกเพียง ๑๐% ส่วนที่เหลือ ๙๐% เทคะแนนไปทางการบวชแบบเรียบง่าย

ผลโหวตออกมาอย่างนี้หลายคนสงสัยว่า ทำไมผลโหวตเหมือนจะสวนทางกับความเป็นจริงที่เราเห็นกันทั่วไปว่า งานบวชมักจะเอิกเกริกใหญ่โต แต่จริง ๆ แล้วที่เห็นอาจจะเป็นส่วนน้อยก็ได้ ส่วนใหญ่ก็บวชกันสงบเรียบร้อยจนไม่เป็นข่าวอยู่แล้ว

๑๐ %๙๐%

 

ส่งท้าย บางครั้งความเอิกเกริกก็อาจมาจากตัวนาคเองก็ได้ เพราะบางคนก็เห็นว่า  “เพราะการบวชเป็นที่ซึ่งละทิ้งทางโลก ดังนั้นก็เลยเลือกเอามันส์ก่อนค่อยไปสงบ”