การสื่อสารไทย…ล้ำไปถึงไหน เพลงไทยบอกได้

 

ว่ากันว่า “เพลง” คือหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในการบันทึกความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของสังคม เราเลยขอหยิบบทเพลงเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสารมาฝาก เช็ควัยกันหน่อยว่าใครทันยุคไหนบ้าง

2539 : จดหมายผิดซอง (มนต์สิทธิ์ คำสร้อย)

“พี่แสนดีใจ ได้รับจดหมายจากไปรษณีย์

จ่าหน้าซองถึงพี่ สอดซองสีนี้ไม่ใช่ใคร

พี่จำแน่นอนว่าบังอรส่งถึงพี่ชาย

เปิดอ่านดูข้างใน ต๊ายตาย! จดหมายผิดซอง”

ยุคที่ทุกคนยังต้องเขียนจดหมายใส่กระดาษ พับใส่ซอง บางคนแอบโรยแป้งฝุ่นหรือฉีดน้ำหอมลงไปด้วย สาวเจ้าในเพลงนี้เขียนจดหมายรักหวานๆ ถึงชายคนนึง แต่ดันเอาไปใส่ซองแล้วจ่าหน้าถึงอีกคนซะนี่ ถือเป็นความ “โป๊ะแตก” ของเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ที่ทำให้เพลงนี้ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองเลยก็ว่าได้

 

2540 : ฮัลโหล (มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์)

ฮัลโหล ไปอยู่ที่ไหนเธอ… ฮัลโหล ทำไมไม่รับสาย

ฮัลโหล เธอแอบไปหาใคร… ฮัลโหล เดี๋ยวจะโทรอีกที”

ถัดจากยุคจดหมาย หลายบ้านก็เริ่มมีโทรศัพท์บ้านกันอย่างแพร่หลายขึ้น เพลงฮิตของวัยรุ่นสมัยนั้นก็เลยต้องมีโทรศัพท์เข้าไปเกี่ยวข้องเสียหน่อย ไม่น่าแปลกใจเลยที่คำว่า “ฮัลโหล” ที่เป็น 2 พยางค์แรกในการรับโทรศัพท์ของเกือบทุกคน จะกลายมาเป็นเพลงแดนซ์สุดมันส์ของเหล่าวัยรุ่นยุค ’90s ได้… ก็สมัยนั้นเขาจีบกันผ่านโทรศัพท์บ้านทั้งนั้นนี่นา

 

(2541) อ๊ะอ๊ะอาย (เอิร์น-จิรวรรณ เตชะหรูวิจิตร)

“ก็ดอกไม้ จดหมาย ข้อความที่เพจมาหา ใครนะส่งมา

เจอะอย่างนี้ประจำ เป็นใครๆ ก็ต้องคิด สักติ๊ดว่าเธอรัก”

นอกจากโทรศัพท์บ้านแล้ว คนที่พอจะเป็นคุณหนูไฮโซหน่อย หรือเริ่มเข้าวัยทำงาน ก็มักจะพก “เพจเจอร์” เครื่องเล็กๆ เอาไว้ในกระเป๋าหรือเหน็บเข็มขัดไว้ หลักการของมันก็คือการส่งข้อความสั้นๆ หากันนี่เอง แต่ต้องโทรไปฝากข้อความกับโอเปอเรเตอร์ให้ช่วยทำหน้าที่พิมพ์ข้อความเหล่านั้นให้ก่อน ดังนั้นถ้าส่งอะไรที่เป็นความลับหากันผ่านเพจเจอร์แล้วล่ะก็… อย่างน้อยในโลกนี่ต้องมีคนรู้อีก 1 คนแน่นอน!

 

(2546) โชว์เบอร์ไม่โชว์ใจ (ดวงจันทร์ สุวรรณี)

“หน้าจอมือถือโชว์เบอร์แต่ไม่โชว์ใจ

คนโทรเขาคิดยังไง   มือถือรุ่นใดบอกได้จะซื้อ”

ขยับเข้าสู่ยุคที่ทุกคนเริ่มมีโทรศัพท์มือถือกันง่ายขึ้นด้วยราคาหลักร้อยปลายๆ หรือหลักพันต้นๆ หน้าจอมือถือก็จะ “โชว์เบอร์” ทุกคนที่โทรมาหาเรา แต่ไม่เคย “โชว์ใจ” บ้างเลยว่าคนที่โทรมานั้นจริงใจหรือไก่กากันแน่ … จนถึงวันนี้ ผ่านมา 12 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีมือถือรุ่นไหนที่สามารถจะ “โชว์ใจ” ได้เลย… เฮ้อ

 

(2550) ช่วยรับที (เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์)

“หากตรงนั้นมีใครใจดี ได้ยินเสียงนี้ดัง

บอกเจ้าของเครื่องนี้ให้รับมันสักครั้ง ได้ไหม?

หรือจะปล่อยให้ดัง อยู่อีกนานเท่าไร…

ช่วยทำให้เธอใจอ่อนและเข้าใจ… ช่วยรับที”

โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกๆ มีริงโทนหรือเสียงเรียกเข้าเป็นแบบ Monophonic และพัฒนาต่อมาเป็น Polyphonic

แต่ริงโทนยอดฮิตในปี 2550 นั้นหนีไม่พ้นริงโทนชนิดที่เป็นเสียงเพลงจริงๆ ที่ดังออกมาจากลำโพงโทรศัพท์ได้เหมือนเปิดวิทยุ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเทคโนโลยี “เสียงเพลงรอสาย” ที่มาแทนเสียง “ตู๊ดดด” แบบปกติอีกด้วย และเพลงที่ใครๆ ต่างก็ต้องเคยเอามาใช้เป็นริงโทนและเพลงรอสาย ก็หนีไม่พ้นเพลงนี้แน่ๆ เพราะพี่เบิร์ดเขาได้ร้องเอาไว้อย่างออดอ้อน… ใครไม่ยอมรับสาย ก็ใจร้ายไปหน่อยแล้ว

 

2550 MSN (เฟย์ ฟาง แก้ว)

เจอเธอออนเอ็มเมื่อไร เราควรจะแชทเลยมะ? หรือต้องแกล้งๆ ออฟไลน์

ก็คิดจะโทรเข้าไป แต่เธอคงจะรู้ว่าใคร เพราะ sms ที่ให้ไป

            วัยรุ่นช่วงปี 2550 นอกจากจะคุยมือถือหรือส่ง SMS ให้กันแล้ว คงต้องยกช่องทางสื่อสารที่ป๊อปปูล่าร์ที่สุด อย่างโปรแกรมแชท “MSN” ให้ยืนหนึ่งได้เลย เพราะทุกๆ คืนเหล่าวัยรุ่นจะต้อง “ออนเอ็ม” คุยกัน บ้างก็นัดทำการบ้าน งานกลุ่ม บ้างก็คุยสัพเพเหระหรือจีบกันก็เยอะแยะ แต่ถ้าอยากคุยกับใครแค่ไม่กี่คน ก็มีทริคคือให้เลือก “Appear Offline” เอาไว้ แล้วค่อยทักเฉพาะคนที่เราอยากคุยด้วยเท่านั้น… แยบยลใช่มั้ยล่า?

 

2555 ณ บัด NOW (บี้-สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว)

“แจ่มจะแดมแจ่มว้าววว… ณ บัด Now นั้นโดนใจ

เล่นสวยไม่ยอมฟังใคร มีปุ่มกด Like ไหมเธอ?”

กระโดดมาที่ยุคของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คครองโลก แอพพลิเคชั่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ “Facebook” นี่เอง ช่วงที่เพลงนี้ของพี่บี้กำลังดัง เฟสบุ๊คยังมีปุ่ม Reaction แค่การยกนิ้วโป้ง Like อย่างเดียวเท่านั้น ขนาดมีแค่ปุ่มเดียวยังกลายเป็นเพลงฮิตติดหูกันได้ขนาดนี้ ถ้ามีทั้ง 6 อารมณ์เหมือนในปัจจุบัน เนื้อเพลงคงสนุกขึ้นน่าดูเลย

 

2560 อยู่ดีๆ ก็… (Wonderframe feat. Youngohm)

“อยู่ดีๆ ก็หาย… Line ไม่ตอบ อยู่ดีๆ เปลี่ยนไป ไม่รู้ทำไม

อยู่ดีๆ ก็นก ฉันพลาดตรงไหน ถึงได้เดินจากไป ไม่บอกกันสักคำ”

วาร์ปถึงทุกวันนี้ นับตั้ง MSN หายสาบสูญไป ทุกคนเลยหันไปซบอกแอพพลิเคชั่นแชทเจ้าอื่นๆ แทน ซึ่งก็มีให้เลือกใช้กันมากมาย แต่ที่เป็นที่นิยมสุดๆ ก็คงหนีไม่พ้น “LINE” ที่กลายเป็น “แอพสามัญประจำเครื่อง” ของแทบทุกคนไปเรียบร้อยแล้ว

ไม่รู้ว่าระหว่างการไม่ตอบไลน์ในยุคนี้ กับการส่งจดหมายผิดซองเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อะไรจะทำให้ช้ำใจมากกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ ก็คือบทเพลงต่างๆ จะยังทำหน้าที่บันทึกเทคโนโลยีการสื่อสารของบ้านเราเอาไว้อย่างไม่หยุดหย่อนอย่างแน่นอน

แต่ช่องทางการสื่อสารไหนจะได้ถูกบันทึกเอาไว้บ้าง…ไว้มาคอยดูกัน!