ค่าจ้างพวกเราได้เท่านี้ พี่ ๆ ได้เท่าไหร่

ค่าแรงขั้นต่ำ ๔๐๐ บาท คือความหวังของแรงงานไทยทั่วประเทศหลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ส่วนจะเป็นจริงได้แค่ไหน ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

โดยที่ความหวังทั้งหมดทั้งมวลของแรงงานไทยนั้น ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจไม่กี่คน ซึ่งประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง และสมาชิกรัฐสภา (สส. สว.) ที่จะยกมือผ่านร่างกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำให้กับพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ

สิ่งนี้เป็นภาระที่หนักมากสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เพราะการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้นจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทยในทุก ๆ ด้านนั่นเอง จึงนำมาสู่ความสงสัยว่าแล้วค่าแรงหรือค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันของผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายได้วันละเท่าไหร่เมื่อเทียบกับพี่น้องแรงงานซึ่งก็เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าอยากรู้ตามไปดูตัวเลขกันเลย

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมค่าจ้างขั้นต่ำถึงไม่ใช่อัตราเดียว ๓๓๐ บาท เนื่องจากมีความแตกต่างกันของค่าครองชีพ และการส่งเสริมการลงทุนในแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดที่ ๓๓๐ บาท ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง จังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุด ๓๐๘ บาท ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ส่วนกรุงเทพมหานครมีค่าแรงขั้นต่ำที่ ๓๒๕ บาท จะเห็นว่าอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสุดน้อยกว่าค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันของสมาชิกรัฐสภาที่จะทำหน้าที่ลงมติขึ้นค่าแรงถึง ๑๕ เท่าตัว

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าแรงงานจะต้องรับค่าจ้างเพียงแค่อัตราขั้นต่ำเสมอไป หากพี่น้องแรงงานสามารถพัฒนาฝีมือเฉพาะด้านเพื่อยกระดับเป็นแรงงานฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างสีรถยนต์ ช่างเย็บ ช่างเครื่องเรือนไม้ ผู้ควบคุมรถยกสินค้า ช่างไฟฟ้า ช่างเหล็ก ช่างเครื่องประดับอัญมณี ฯลฯ ก็สามารถเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำได้เป็น ๓๔๕ – ๘๒๕ บาท ต่อวัน หรือมากกว่านั้น โดยแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมอัญมณี และยานยนต์จะมีรายได้สูงกว่าแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

และถึงแม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานจะน้อยกว่าผู้กำหนดนโยบายมากกว่า ๑๐ เท่า แต่พี่น้องแรงงานทุกคนต้องไม่ลืมว่า ยิ่งค่าจ้างสูงมากเท่าไหร่ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบก็มีมากขึ้นเท่านั้น และทุกคนสามารถยกระดับค่าจ้างได้ด้วยการพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้มีอำนาจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเสมอไป