คุยกับพระ ว่าด้วยเรื่อง “งานวัด” ใครจัด? จัดทำไม? จัดแล้วได้อะไร?

“…งานวัดก็ต้องวัดจัดสิ วัดไม่มีเงินไปจ้างออแกไนซ่ง ออแกไนเซอร์อะไรนั่นน่ะ พระ เจ้าหน้าที่วัด และชุมชนรอบ ๆ วัดนี่แหละช่วยกันจัด พระก็ดูแลส่วนในพื้นที่ของวัด จัดสัดส่วนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูความเหมาะสมว่าอะไรมีได้ อะไรไม่ควรมี หลัก ๆ คือ เวลามีงานบุญใหญ่ ๆ คนเข้ามาเยอะ ๆ ก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขา มีอาหาร มีของเล่นให้ลูกหลาน มีของมาขาย ร้านที่ออกก็จากคนในชุมชน และคนที่เขามาออกเป็นประจำ ทำตามกฎระเบียบของวัดได้ ค่าเช่าก็ไม่ได้แพงมาก ของขายก็ราคาถูก วิถีของงานวัดก็เป็นแบบนี้แหละจุนเจือกันไป…”

งานวัด คำที่เคยคุ้นเคยในวิถีสังคมไทยเมื่อในอดีต ที่ในยุคนี้อาจค่อย ๆ เลือนหายไป หรือบางครั้งก็กลายเป็นงานอีเว้นท์อย่าง “งานวัดติดแอร์” หรือ “งานวัดขึ้นห้าง” ซึ่งก็อาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวัดจริง ๆ อีกต่อไป

แล้วงานวัดจริง ๆ ยังมีอยู่หรือไม่ งานวัดคืออะไร ทำไมต้องมีงานวัด TypeThai มีโอกาสได้สนทนากับ พระสิทธิธรรมวิเทศ (วสันต์ รตนญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เกี่ยวกับงานวัด จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับงานวัดมาพาให้คนไทยได้ระลึกถึงความหลัง และอาจช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเที่ยวงานวัดได้ตัดสินใจทดลองเที่ยวงานวัดสักครั้งในชีวิต

งานวัดคืออะไร? ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้ไขความสงสัยว่า

“ถ้าจะว่ากันง่าย ๆ ตรง ๆ งานวันก็คืองานทำบุญนี่ล่ะ เพียงแต่อาจจะเป็นงานใหญ่ เนื่องในโอกาสพิเศษ มีผู้คนมาเยอะ ๆ วัดก็จะจัดให้มีการออกร้านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนที่มาทำบุญในวัด ได้มีอาหารการกิน มีการละเล่นให้บุตรหลาน มีความบันเทิงบ้างให้กับคนหนุ่มสาวตามความเหมาะสม อย่างงานวัดของวังสระเกศฯ นี่ก็จัดเป็นประจำทุกปีช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี่ล่ะ จัดขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ามานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ วัดอื่น ๆ ที่มีวัตถุสำคัญทางศาสนาเขาก็จัดคล้าย ๆ กันจัดเป็นงานสมโภชบ้าง ฝังลูกนิมิตบ้าง แต่โดยรวม ๆ ถ้ามีการทำบุญใหญ่ มีการออกร้านรวงต่าง ๆ คนไทยก็เรียกรวม ๆ กันว่า งานวัด”

ฟังท่านเจ้าคุณแล้วก็ชวนให้สงสัยถ้าทุกวัดพร้อมใจกันจัดงานทำบุญออกร้านกัน งานวัดจะไม่มีเต็มไปหมดเลยหรือ เจ้าคุณจึงได้อธิบายต่อว่า อันที่จริงแล้วไม่จำเป็นที่ทุกวัดจะต้องจัดงานใหญ่เป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่ก็จัดกันแล้วแต่โอกาสพิเศษ หรือบางครั้งก็ไม่ได้จัดงานใหญ่โต แต่ชุมชนรอบ ๆ วัดเข้ามาช่วยจัดให้มีกิจกรรมขึ้นเพื่อทำนุบำรุงวัด

สำหรับส่วนของวัดสระเกศฯ ที่มีเป็นประจำทุกปีเนื่องจากเป็นงานใหญ่ เป็นการสมโภชเฉลิมฉลองพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเชิญมาจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานที่พระบรมบรรพตหรือภูเขาทองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปีไม่มีเว้น เพิ่งจะมางดไปช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้จึงเป็นปีแรกที่วัดสระเกศฯ กลับมาจัดงานหลังจากที่งดไป ซึ่งรูปแบบในการจัดงานก็ยังคงเดิมแต่ก็มีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย

เมื่อคนอยากรู้อย่าง TypeThai มาถามจึงอยากรู้ว่า งานวัดใหญ่ ๆ อย่างวัดสระเกศฯ มีการจ้างคนเข้ามาจัดงานให้หรือเปล่า ท่านเจ้าคุณก็ยินดีตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “วัดก็จัดกันเอง ไม่มีเงินทองไปจ้างใครมาจัดหรอก” เลยต้องถามต่อไปว่า

แล้วจัดได้อย่างไร จึงได้ความรู้ว่า ในพื้นที่ของวัดก็มีพระและเจ้าหน้าที่วัดทำหน้าที่ดูแล แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ตามความเหมาะสม นอกจากจัดพื้นที่สำหรับบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ไหว้พระ ทำบุญแล้ว ก็จัดให้มีพื้นที่สำหรับร้านค้า ร้านอาหาร มีของเล่นให้เด็ก ๆ สนุกกันบ้าง ซึ่งก็เปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาออกร้าน เพราะคนที่เข้ามาทำบุญที่วัดนั้นมีทุกเพศทุกวัย มาเป็นกลุ่มบ้าง เป็นครอบครัวบ้าง ซึ่งก็ต้องดูแลเติมเต็มให้เขา ลูกหลานเด็กเล็ก ๆ ก็อยากเล่น อาหารของขบเคี้ยวก็ต้องมีให้เพียงพอ เพื่อให้การมางานวัดได้ตอบสนองต่อทุกเพศทุกวัย ส่วนบริเวณรอบ ๆ วัน เป็นพื้นที่ของเอกชนและชุมชนโดยรอบเขาก็ต้องขออนุญาตสำนักงานเขตจัดงาน

หากจะถามว่าอะไรที่ทำให้วัดสามารถจัดงานได้ดีและจัดได้ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ความสำคัญน่าจะอยู่ที่ชุมชนรอบ ๆ วัด ตั้งแต่อดีตสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน หลังผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยว พอย่างเข้าหน้าหนาวก็เริ่มมีเวลาที่จะทำนุบำรุงพระศาสนา ซ่อมแซมวัดวาอารม ศาสนสถานต่าง ๆ ผู้คนในชุมชนต่างมารวมตัวกันที่วัดช่วยกันคนละไม้ละมือ จนเวลาผ่านพ้นไป ยุคสมัยเปลี่ยนไป การสนับสนุนวัดก็ค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบ จากการลงมือทำเองกลายมาเป็นการร่วมทำบุญ ออกร้าน จนกลายมาเป็นรูปแบบของงานวัดอย่างที่หลาย ๆ คนรู้จักกัน

กับคำถามที่ว่างานวัดในวันนี้ต่างจากอดีตอย่างไร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่อยู่ในสมณะพรรษามากว่า ๒๐ ปี มองว่าหัวใจของงานวัดไม่ได้เปลี่ยน

“หัวใจของงานวัดคือพุทธศาสนิกชนได้เข้ามาร่วมทำบุญ เข้ามานมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด ของชุมชน เข้ามาทำนุบำรุงศาสนาไม่เปลี่ยน หากจะมีเปลี่ยนบ้างก็อาจจะเป็นพื้นที่จัดงานน้อยลงเนื่องจากมีอาคาร มีการแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับจอดรถ รูปแบบวิธีการทำบุญที่มีมากขึ้น ส่วนของการจัดงานโดยรอบ อาหาร การละเล่นก็มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง การแสดงหลาย ๆ อย่างเช่นละครลิงก็ขาดคนสืบทอด ม้าหมุนสำหรับเด็ก ๆ อาจจะเปลี่ยนเป็นรถไฟหรือเครื่องบิน อย่างอาหารเดี๋ยวนี้ก็มีฟู้ดทรัคเข้ามา หม่าล่า เฟรนซ์ฟราย์ ชานมไข่มุกก็มี ถูกกว่าข้างนอกด้วยนะ เปลือกเปลี่ยน รูปแบบเปลี่ยน แต่หัวใจที่ผู้คนมาด้วยศรัทธา และความเพลิดเพลินสนุกสนานนั้นไม่เปลี่ยน”

แล้วคนเปลี่ยนไป คนมาเที่ยวงานวัดลดน้อยลงกว่าเดิมหรือเปล่า? ในมุมมองของท่านเจ้าคุณบอกว่า “ไม่ค่อยน้อยลงนะ อย่างปีนี้ก็มีคนโทรมาที่วัดถามว่าจะจัดงานหรือเปล่า คือคนเขาก็อยากมา”

ถ้าประเมินด้วยสายตาคนที่มาเที่ยวงานวัดภูเขาทองก็มีไม่น้อย อาจเป็นเพราะที่นี่เป็นวัดใหญ่ เป็นงานผู้คนคุ้นเคยและเฝ้ารอ คนที่มาก็มีทั้งคนสูงอายุ เด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษาก็มา หากจะมีเปลี่ยนไปในช่วงหลังมาก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีที่ชาวต่างชาติได้มาเที่ยว ได้มาเรียนรู้ประเพณี และความสนุกสนานแบบไทย แบบงานวัด ก็น่าจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับพวกเขา

วัยรุ่นยังเที่ยวงานวัดจริง ๆ หลังจากที่ได้เดินสำรวจบริเวณที่จัดงาน พบว่ามีวัยรุ่น วัยเริ่มต้นทำงานเข้ามาเที่ยวงานวัดไม่น้อย อาจเป็นเพราะงานวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน เป็นงานวัดใหญ่ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่การจัดงานกว้างขวาง หากจะมีงานวัดใหญ่ ๆ อีกก็มักจะอยู่ในพื้นที่ปริมณฑลหรือในต่างจังหวัด เช่น วัดพระสมุทรเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดไร่ขิง เป็นต้น และมักจัดในช่วงเวลาปลายปีไล่เลี่ยกันไป

กิจกรรมยอดนิยมของวัยรุ่นที่มาเที่ยววัดก็คือการถ่ายภาพสวย ๆ ทั้งภาพความงดงามของภูเขาทองจากพื้นราบ และภาพวิวกรุงเทพฯ จากบนภูเขาทอง แต่ที่จะเห็นแปลกใหม่ขึ้นคือ การถ่ายทอดสดบนโซเชี่ยลมีเดียขณะเดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุบนภูเขาทอง เสมือนพาคนที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้เดินทางไปร่วมทำบุญด้วยกัน หรือเป็นการกระจายบุญไปให้ทั่วถึงผ่านไลฟ์ของตัวเอง นัยว่าจะได้บุญเพิ่มขึ้นนั่นเอง

“เทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไปนะ” ท่านเจ้าคุณเอ่ยขึ้นมา “วันนี้คนติดตามวัดผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านเฟซบุ๊ค สอบถามกันเข้ามาเหมือนกันว่ามีงานเมื่อไหร่อย่างไร หลายคนที่มาก็ทราบข่าวผ่านอินเทอร์เน็ต จริง ๆ แล้ววัดกับเทคโนโลยีก็ไปด้วยกันได้นะ ดังนั้นไม่ว่าจะคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ หากเข้าใจแก่นของศาสนาแล้ว เราก็สามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงได้ตลอด”

เมื่อท่านเจ้าคุณเปิดประเด็นแบบนี้มา TypeThai จึงสวนไปด้วยคำถามแห่งยุคสมัยด้วยความเกรงใจว่า พอจะช่วยตอบเราหน่อยได้ไหม..งานวัดยังจำเป็นสำหรับสังคมไทยคือไม่?

“อืม…ก็อยู่ที่มุมมองนะ สำหรับอาตมาคิดว่าจำเป็นต้องมีนะ ต้องเข้าใจว่างานวัดไม่ใช่เป็นเรื่องของวัดหรือศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับชุมชนที่อยู่รอบ ๆ วัด เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีความรัก ความภาคภูมิใจ มีความหวงแหนในสิ่งที่บรรพบุรุษเขาสร้างไว้ ถ้าเขาไม่รักไม่หวงแหนวัดสระเกศฯ ก็คงไม่อยู่มาจนถึงวันนี้ งานที่นี่ถึงเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์ต่างจากที่อื่น ๆ เพราะชุมชนให้การสนับสนุนวัด ในส่วนของวัดก็ต้องจัดให้ดี ให้เหมาะสมเรียบร้อยให้มีความน่าศรัทธาน่าเลื่อมใสเพื่องานวัดยังคงเป็นประโยชน์กับทุกคนที่ได้เข้ามาไม่ว่าจะมาทำบุญหรือแค่เที่ยวชมงานก็ตาม”

หากท่านเจ้าคุณกล่าวอย่างนี้ก็อาจจะอนุมานได้ว่า รากฐานสำคัญของวัดคือคน คือชุมชน หากในอนาคตวันหนึ่งชุมชนไม่ต้องการให้มีงานวัดงานวัดก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป อย่างไรก็ตามก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากใครที่คิดจะตั้งคำถามว่า ของสิ่งไหนยังจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่? บางครั้งผู้ที่จะตอบคำถามอาจจะไม่ใช่ตัวแทนของสิ่งนั้น หากแต่เป็น “คน” ในสังคมที่มีส่วนร่วม หรือมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ๆ มากกว่าที่จะตอบได้ว่า อะไรยังจำเป็นสำหรับสังคมไทย

ในส่วนของงานวัดนั้น เมื่อสัก ๒๐-๓๐ ปีก่อน อาจจะมีการจัดงานวัดมากกว่านี้ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป พื้นที่ในการจัดงานที่ลดลง ปัญหาการจราจร ความสะดวกสบาย จึงทำให้มีการจัดงานวัดน้อยลงไปเหลือเพียงแค่วัดใหญ่ ๆ ร่วมกับชุมชนที่เข็มแข็งที่ยังมีศักยภาพพอที่จะจัดงานวัดได้ แต่งานวัดก็ยังคงเป็นที่ต้องการสำหรับผู้คนอีกหลากหลายกลุ่มในสังคมไทย

การได้เห็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาเที่ยวงานวัดกับคุณพ่อคุณแม่ เห็นลูกหลานจูงคุณตาคุณยายมาไหว้พระ เห็นวัยรุ่นหนุ่มสาวเข้ามาถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน เห็นผู้คนอิ่มอร่อยกับอาหารราคาไม่แพง ได้เห็นความสนุกสนานของบ้านผีสิง ยิงปืนอัดลม ปาลูกโป่งแบบบ้าน ๆ รอยยิ้มเปื้อนใบหน้า และแววตาแห่งศรัทธา ถ้าใครไม่เคยเที่ยวงานวัด TypeThai ขอแนะนำ ให้มาสักครั้งเพื่อที่จะเข้าใจว่า…งานวัดคืออะไร

 

 

 

ส่งท้าย

นอกจากประเพณีห่มผ้าแดง และงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประจำปี ๒๕๖๒ ระหว่างวันที่ ๔ – ๑๓ พฤศจิกายนนี้แล้ว หากยังเที่ยวไม่จุใจ ขอแนะนำให้ไปต่อที่ งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ณ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๖ พฤศจิกายนนี้ รับรองว่าเที่ยวงานวัดสนุกมากกว่าที่คิด