พืชผักสมุนไพรไทย … สู้เบาหวาน

ขึ้นชื่อว่า “เมด อิน ไทยแลนด์” หลายคนอาจไม่เชื่อว่า “มีแต่ของดี ๆ” โดยเฉพาะเรื่องของยารักษาโรค หากให้ได้ผลชะงัดต้องยานอกเท่านั้น ยิ่งแพงยิ่งดี โดยหารู้ไม่ว่าบริษัทยาฝรั่งทั้งหลายเขาก็จนปัญญาจนต้องมาค้นหาวัตถุดิบยารักษาโรคร้ายจากโลกตะวันออกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสมุนไพรไทยที่มีคุณค่าเป็นอย่างมากและเป็นที่ต้องการของวงการผลิตยาทั่วโลก แต่คนไทยกลับมองข้าม บ้างก็เห็นว่าคร่ำครึโบราณ

ลองหลับตานึกถึงปู่ย่าตายายของเราในอดีตที่เติบโตมากับการรับประทานพืชผักสมุนไพรนานาชนิด ซึ่งส่งผลให้พวกเขาแข็งแรงและมีอายุยืนยาวตามธรรมชาติ ต่างจากคนไทยในปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาหยูกยาสารเคมีราคาสูงเพื่อชีวิตที่ยืนยาวขึ้น คนไทยสมัยก่อนน้อยนักที่จะมีน้ำหนักเกินอย่างในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการใช้ชีวิตและอาหารการกินของคนยุคใหม่ที่เต็มไปด้วย ไขมัน แป้ง และน้ำตาลซึ่งเป็นบ่อเกิดของสารพัดโรค และ “เบาหวาน” คือหนึ่งในโรคยอดนิยมของคนยุคนี้

แต่รู้กันหรือไม่ เบาหวาน เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ ยาต่าง ๆ ที่ใช้ก็เพื่อควบคุม ดูแล บรรเทาอาการเท่านั้นเอง แล้วคนไทยพร้อมที่จะใช้ยาฝรั่งแพง ๆ อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิตหรือไม่ หลายคนอาจพร้อม แต่หลายคนก็ไม่พร้อม แล้วมีทางเลือกอะไรบ้างหากไม่ต้องการใช้ยากไปตลอดชีวิต ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอและฝึกจิตใจให้สงบไม่แปรปรวนไปตามอารมณ์

นอกจากนี้เพื่อลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็นแล้ว “พืชสมุนไพรไทย” ยังมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดและควบคุมน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี เป็นวิธีการที่ประหยัด มีประสิทธิภาพ เพียงแค่ต้องใช้ให้เป็น สำหรับสมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทยและใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรค ได้ให้คำแนะนำถึง ๕ พืชผักสมุนไพรไทย ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานดังนี้

๑. ตำลึง เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี ช่วยลดน้ำตาลในเลือดมีประสิทธิผลเทียบเท่ากับโสม สามารถใช้ได้ทั้งส่วนที่เป็นใบ ราก และผล วิธีการใช้ นำเถาตำลึกแก่ ประมาณ ๑ กำมือต้มกับน้ำ หรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ ๒ ครั้งเช้าเย็น

๒ มะระขี้นก ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ยับยั้งการสร้างกลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสของตับ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด วิธีใช้ ผลมะระขี้นก ๒-๓ ผล นำเมล็ดในออก ใส่น้ำเล็กน้อยปั่นคั้นเอาแต่น้ำ ดื่ม ๓ เวลาก่อนอาหาร ทั้งนี้สามารถดื่มในรูปแบบของชาจากผลตากแห้ง หรือหรือรับประทานในรูปแบบแคปซูลก็ได้

๓. กะเพรา สมุนไพรที่มีคุณค่าทางยามากที่สุดชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดจากน้ำมันหอมระเหย ทั้งยังช่วยให้เซลล์ตับอ่อนหลั่งอินซูลินได้ดีขึ้น วิธีการใช้ ให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานผงใบกะเพราวันละ ๒.๕ กรัม เป็นเวลา ๔ สัปดาห์ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

๔. ช้าพลู หรือ ชะพลู ตำรับยาพื้นบ้านไทยได้บันทึกถึงการต้มช้าพลูทั้งห้าแก้เบาหวาน โดยนำนำช้าพลูทั้งต้นตลอดถึงราก  ๑ กำมือ พับเถาเป็น ๓ ทบ ใช้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น ๓ เปลาะ ใส่หม้อต้มน้ำพอท่วม ต้มจากน้ำ ๓ ส่วน เหลือ ๑ ส่วน กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ ๓ ครั้งก่อนอาหาร ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

๕. ผักเชียงดา เป็นอีกหนึ่งผักพื้นบ้านไทยที่มีผลช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาล ฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน เพียงใช้ใบแห้งชงกินเป็นน้ำชา ครั้งละ ๔ กรัม วันละ ๒-๓ ครั้ง หรือทานเป็นผักในมื้ออาหาร ก็สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้

ใน “วันเบาหวานโลก” ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี ทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงภัยของโรคเบาหวาน การบรโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การรับประทานอาหารรสจัด ทั้งหวานจัดและเค็มจัด ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพร่างกายของเราเอง ปีนี้ TypeThai ขอชวนคนไทยกลับมาคิดกันใหม่ว่าถ้าอยากสุขภาพดีไม่ต้องพึ่งยา ลองหันมา ลดหวาน ลดเค็ม ลดไขมัน รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายเป็นประจำ และหันมารับประทานอาหารจากพืชผักสมุนไพรไทย ให้มากขึ้นเพื่อป้องกันโรคร้ายมาเยือน

เพราะของไทยนั้นมีแต่ของดี ๆ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งนี้การใช้สมุนไพรเป็นประจำให้เหมาะสมควรปรึกษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนไทย