ฝุ่น พีเอ็ม ๒.๕ ยังไม่ไปไหน พวกเราเอาไงกันดี?

ช่วงต้นปีที่ผ่านมาสถานการณ์ พีเอ็ม ๒.๕ ของสังคมคนกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤติสุด ๆ สำหรับกรุงเทพฯ นั้นอาจต้องบอกว่าแพ้ภัยตัวเอง ทั้งการก่อสร้าง การขยายตัวของอาคารสูง และปริมาณรถบนท้องถนน เป็นสาเหตุหลักของ พีเอ็ม ๒.๕ในขณะที่จังหวัดในภาคเหนืออย่าง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้รับผลกระทบ พีเอ็ม ๒.๕ จากไฟป่าในประเทศเองและจากประเทศเพื่อนบ้าน

เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือฝุ่น พีเอ็ม ๒.๕ มีบทเรียนอะไร และมีสิ่งใดที่จะต้องเตรียมตัวบ้าง Typeไทย จะชวนไปเตรียมตัวกันจะได้ไม่ต้องกังวลว่าหน้ากากกัน พีเอ็ม ๒.๕ ขาดตลาดเหมือนครั้งที่ผ่านมา

พีเอ็ม ๒.๕ คืออะไร?

พีเอ็ม ย่อมาจาก ไพรม์ มินิสเตอร์ เอ้ย! พาร์ติคูล่าร์ แมทเทอร์ (Particulate Matter) หมายถึงอนุภาคใดที่มีขนาดเล็กกว่า ๒.๕ ไมครอน สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ โดย พีเอ็ม ๒.๕ เป็นสารแขวนลอยที่ฟุ้งกระจายในชั้นบรรยากาศ อาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็ก เช่น เชื้อโรค หรือฝุ่นละออง เมื่อมองเห็นในภาพกว้างมีลักษณะคล้ายหมอกหรือควัน

พีเอ็ม ๒.๕ อันตรายแค่ไหน?

ผลกระทบเบื้องต้นของ พีเอ็ม ๒.๕ คือ อาการระคายเคืองดวงตา แสบจมูก ส่งผลให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ เหี่ยวย่นง่าย อีกทั้ง พีเอ็ม ๒.๕ มีขนาดเล็กมาก จึงเป็นพาหะนำสารพิษต่าง ๆ และสารก่อมะเร็ง เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะ เข้าสู่ร่างกายได้ เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหอบหืด โรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ ๑ ของสารก่อมะเร็ง

พีเอ็ม ๒.๕เกิดจากอะไร?

แหล่งกำเนิดโดยตรงของ พีเอ็ม ๒.๕ เกิดจากการเผาไหม้จากเครื่องยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่งโดยเฉพาะของภาคการเกษตร การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างไฟป่าและภูเขาไฟระเบิด นอกจากนี้ยังเกิดจากการรวมตัวของก๊าซอื่น ๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ปรอท แคดเมียม กรดอาร์เซนิก และสารพิษอื่นที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์

ทำไมปัญหา พีเอ็ม ๒.๕ ถึงได้รุนแรง?

สภาพอากาศโดยปกติจะไล่อุณหภูมิความร้อนจากพื้นดินขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้ฝุ่นต่าง ๆ และ พีเอ็ม ๒.๕ ลอยขึ้นสูงและถูกกระแสลมพัดออกไป แต่ในฤดูหนาวอุณหภูมิที่พื้นดินมักเย็นกว่าชั้นบรรยากาศด้านบนทำให้ พีเอ็ม ๒.๕ ไม่ลอยไปไหน พีเอ็ม ๒.๕ จึงมีความรุนแรงในฤดูหนาว ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นคือ สภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ การมีอาคารสูงบังทางลม การก่อสร้างที่มากขึ้น ปริมาณรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรมที่มากขึ้นก็ส่งผลให้ พีเอ็ม ๒.๕ รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

ป้องกัน พีเอ็ม ๒.๕ ได้อย่างไร?

สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยใช้เครื่องวัด พีเอ็ม ๒.๕ หรือ ติดตามข้อมูลผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของหน่วยงานต่าง ๆ หากพบว่ามี พีเอ็ม ๒.๕ เกินมาตรฐาน สามารถป้องกันโดยสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เอ็น ๙๕ หากไม่มีสามารถใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาสวมทับ ๒ ชั้น หรือซ้อนทับด้วยผ้าเช็ดหน้า ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากอยู่ในอาคารควรใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศที่สามารถกรอง พีเอ็ม ๒.๕ ได้

ทำอย่างไรจึงจะลดปริมาณ พีเอ็ม ๒.๕ ได้?

ในระยะสั้นสามารถทำได้โดยลดการก่อมลพิษโดยเฉพาะจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม ป้องกันและดับไฟป่า นอกจากนี้การฉีดละอองน้ำที่ระดับความสูง ๑๐๐ เมตร ก็จะช่วยทำให้ปริมาณ พีเอ็ม ๒.๕ ลดลงด้วย

แต่สำหรับระยะยาวยังคงต้องทำอีกหลายอย่าง เช่น การปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น ยูโร ๕ และ ยูโร ๖ การกำหนดเขตปลอดมลพิษ การวางผังเมือง การส่งเสริมรถพลังงานไฟฟ้า และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามหากภาครัฐยังคงไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหา ประชาชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน เช่น เตรียมหน้ากาก เอ็น ๙๕ และเครื่องกรองอากาศไว้ ก่อนที่สินค้าจะขาดตลาด ทั้งนี้หากใครไม่มีเครื่องวัดคุณภาพอาการ ก็สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้ด้วยตัวเองได้ที่

ตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วประเทศไทย โดย กรมควบคุมมลพิษ ที่ http://aqmthai.com/aqi.php

ตรวจสอบคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ โดย กทม. ที่ http://bangkokairquality.com/bma/index.php

ตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วโลก ที่ http://aqicn.org/

ในเมื่อ ไพรม์ มินิสเตอร์ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา พีเอ็ม ๒.๕ ได้ คนกรุงอย่างเรา ๆ ก็คงต้องดูแลตัวเองไปก่อน ตุนหน้ากาก เอ็น ๙๕ ไว้ให้เพียงพอก็แล้วกัน