รมว.คลังยังอาย เมื่อ “ป๊อก กระปุกออมสิน” คุยเรื่องการเงิน

ฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดมากี่รัฐบาล คนไทยก็ยังหาทางออกจากหล่มเศรษฐกิจไม่ได้ ค้าขายก็แผ่ว เงินเก็บก็ไม่มี ไม่ได้รวยกับเขาสักที เจอหนุ่มเข็นรถขายกระปุกออมสินสีสันสดใสที่เดินขายแบบส่งตรงจากโรงงานถึงลูกค้าผ่านมา เลยต้องขอจับมาสัมภาษณ์กันหน่อยว่า ในฐานะที่ทำอาชีพซึ่งใกล้ชิดกับการเก็บเงินของคนไทยมากที่สุดอาชีพหนึ่งมองเห็นเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างไร และมีคำแนะนำด้านการเงินอะไรให้กับคนไทยบ้าง

…ชื่อ ‘ป๊อก’ ครับ ชื่อจริงชื่อ สมเกียรติ จิตรตระกูล มาจากจังหวัดพิจิตร ทำอาชีพขายกระปุกออมสินครับ…

แม้น้ำเสียงและท่าทางจะมีความงงอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะยังไม่เคยถูกสัมภาษณ์อย่างจริงจังมาก่อน ด้วยพื้นเพของป๊อกเป็นคนจังหวัดพิจิตร เรียนจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แต่ด้วยความตั้งใจจะหาเลี้ยงตัวเองจึงตัดสินใจออกจากบ้านมาหางานทำ โดยเริ่มต้นทำงานโรงงานในจังหวัดนครปฐม ก่อนจะผันตัวไปเป็นลูกจ้างในห้างสรรพสินค้า กระเป๋ารถเมล์ และกลับมาทำงานโรงงานอีกครั้ง แต่งานเหล่านั้นก็ไม่ตอบโจทย์ชีวิต เงินเก็บก็ไม่มี และรู้สึกเบื่อกับงานที่ทำ จนได้รับคำชักชวนจาก “น้องเขย” ให้มาลองขายกระปุกออมสิน

“ที่บ้านของน้องเขยเขาทำกระปุกออมสินมายี่สิบสามสิบปีแล้ว จนโรงงานตกมาที่รุ่นลูก น้องเขยเขาเห็นผมทำงานโรงงาน ใช้เงินเดือนชนเดือน บางทีก็ไม่พอใช้ ก็เลยชวนให้มาลองขายกระปุกออมสิน เพราะรายได้ดีกว่า”

ปรากฏว่าอาชีพขายกระปุกออมสินเข้ากับป๊อกมาก ป๊อกบอกว่าทำแล้วเพลินดี เหมือนทำธุรกิจของตัวเองทำมากก็ได้มาก ได้ช่วยเหลือน้อง อีกทั้งยังมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น เพราะทำงาน ๑ สัปดาห์ พัก ๑ สัปดาห์ และสร้างรายได้พอประมาณ ถ้านับจนถึงวันนี้ ป๊อกกับแฟนได้เข้ามาเป็นลูกหาบขายกระปุกออมสินกับเป็นระยะเวลาถึง ๑๓ ปีแล้ว

ลูกหาบขายกระปุกออมสินทำอะไรบ้าง? ป๊อกเล่าว่า เมื่อถึงเวลาทำงานจะต้องออกจากบ้านไปประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็เก็บเสื้อผ้า ทิ้งเงินไว้ให้ลูกไปโรงเรียน แล้วก็ไปขึ้นรถกระบะของเถ้าแก่ที่โรงงานเพื่อเข้ามาขายกระปุกออมสินที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่น เมื่อมาถึงกรุงเทพณแล้ว เถ้าแก่จะไปจอดรถในวัดที่คุ้นเคยกัน นอนในวัดหนึ่งถึงสองคืน ลูกหาบก็เอากระปุกขึ้นรถเข็นออกขาย มาเที่ยวหนึ่งจะย้ายไปนาน ๓-๔ วัด เพื่อจะได้ขายได้หลายพื้นที่ โดยปกติก็จะขายหมดภายใน ๑ สัปดาห์ ถ้าขายดีหน่อยก็หมดเร็วกว่านั้น พอขายกระปุกเสร็จก็ขึ้นรถเถ้าแก่กลับพิจิตร ลูกหาบก็กลับบ้านพักผ่อนส่วนเถ้าแก่ก็กลับไปลงสี เคลือบกระปุกที่โรงงานประมาณ ๑ สัปดาห์ถึงจะรวมตัวกันเอากระปุกไปขายรอบต่อไป

ลูกหาบที่มาทำงานกับเถ้าแก่จะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ เพราะสามารถนำของไปขายก่อนแล้วค่อยมาเคลียร์เงินทีหลัง ซึ่งเถ้าแก่ที่ว่าก็คือน้องเขยของป๊อกเอง ส่วนลูกหาบคนอื่น ๆ ก็มีแฟนป๊อก หลานของลุง และเครือญาติหรือคนรู้จักในละแวกเดียวกัน

“ญาติ พี่น้องกัน มาทำงานด้วยกันข้อดีคือไว้ใจกันได้ ลูกหาบก็ไม่ต้องลงเงินก่อน ขายได้แล้วค่อยมาคืน ขายได้มากเท่าไหร่ก็กำไรเท่านั้น ข้อเสียคงมีที่ทะเลาะกัน เพราะเป็นเพื่อน เป็นน้องเขย สนิทกัน บางทีเขารีบกลับ จะให้เอาของที่เหลือไปส่งร้าน ผมก็ไม่ยอม ไม่ได้กำไร ทะเลาะกัน เถียงกัน แต่ก็แค่เสียงดังนะไม่ได้ตีกันอะไร จนสุดท้ายน้องสาวเข้ามาคุยให้”

ในวันว่างของป๊อกนอกจากจะสามารถดูแลครอบครัวทั้งลูก และพ่อแม่ได้อย่างใกล้ชิดแล้ว ป๊อกยังทำอาชีพเสริมขายลูกชิ้นปิ้ง ขายก๋วยจั๊บ ที่หน้าบ้านของตัวเองอีกด้วย ซึ่งฝีมือก็ใช้ได้มีลูกค้าเรื่อย ๆ ขายสามสี่วันก็หยุดมาขายกระปุก ป๊อกบอกว่าทำอาหารขาย ๆ หยุด ๆ อย่างนี้ดี เพราะคนไม่เบื่อ ขายเป็นรายได้พิเศษดีถ้าเอาแต่ขายอาหารหน้าบ้านทุกวันคนเบื่อก็ไม่มากิน ส่วนขายกระปุกออมสินเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้มั่นคงกว่า ส่วนเวลาว่าง ๆ ก็ไปทอดแหหาปลาบ้าง ซ้อมไก่ชนบ้าง ชีวิตมีความสุขกว่าตอนที่ทำงานโรงงานมาก

ทำงานเยอะแบบนี้ รวยแล้วใช่ไหม? “โอ้ย ไม่ครับพี่” ป๊อกรีบปฏิเสธไปหัวเราะไป “มีแค่เงินเก็บไม่กี่พัน แถมเดี๋ยวนี้ขายกระปุกรายได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ก็พออยู่ พอดูแลครอบครัวได้เท่านั้นเอง” ป๊อกบอก

จากการที่ได้ทำงานช่วยเหลือคนไทยให้เก็บออมมานานถึง ๑๓ ปี ป๊อกได้เห็นลึกซึ้งถึงเศรษฐกิจและเข้าใจปัญหาการเงินของคนรากหญ้าจริง ๆ เพราะป๊อกเองก็เคยผ่านมาก่อนเมื่อตอนที่ป๊อกทำงานโรงงานนั้นได้เงินมาก็ใช้หมด ใช้เงินเดือนชนเดือนไม่มีเงินเก็บ เดี๋ยวเจอเพื่อนฝูง เดี๋ยวกินเลี้ยง พอมาเป็นลูกหาบขายกระปุกออมสินก็เห็นเลยว่า คนที่มาซื้อกระปุกออมสินเองก็ไม่ได้มีเงินเยอะนะ เป็นคนงานตามแคมป์บ้าง เป็นแม่ค้าในตลาดบ้าง คนงานร้านเสริมสวย คนขับรถแท็กซี่ พวกเขาตั้งใจเก็บเงินนะ แต่เก็บเงินไปจ่ายค่าแชร์บ้าง ไปจ่ายค่างวดบ้าง ใช้หนี้ เก็บเงินไปใช้ยามฉุกเฉินตอนที่ขาดเงิน ถึงจะเป็นการเก็บก็จริงแต่เก็บเพื่อไปจ่ายในสิ่งที่เป็นภาระของเขา ถ้าไม่เก็บ ไม่หยอดกระปุกไว้ก็หมด

ส่วนกระปุกที่ป๊อกขายนั้นก็ไม่ธรรมดา เพราะเป็นกระปุกที่ไม่มีที่แคะเงินออกมา หยอดได้อย่างเดียว หยอดจนเต็มแล้วถ้าจะเอาเงินออกมาต้องทุบอย่างเดียว ในทางการตลาดป๊อกยอมรับว่าถ้าทำกระปุกแบบแคะเงินออกมาได้ลูกค้าก็จะไม่มาซื้อใหม่ แต่ในทางจิตวิทยาป๊อกก็บอกว่าลูกค้าชอบแบบนี้เป็นการบังคับเก็บเงิน ถ้าแคะออกได้ก็จะเก็บเงินไม่สำเร็จ เมื่อถามว่ากระปุกแบบไหนขายดีที่สุด ป๊อกบอกว่า “ที่ขายดีที่สุดคือกระปุกหมู เพราะมีขนาดใหญ่เก็บได้เยอะ คนชอบ แต่ถ้าเป็นเด็ก ๆ จะชอบลายการ์ตูน”

ขายกระปุกมานานขนาดนี้อยากเป็นเถ้าแก่เองไหม ป๊อกบอกไม่ไหวใช้ทุนเยอะ ขอทำแบบนี้ดีกว่าอิสระดี ถึงช่วงสองสามปีมานี้จะได้กำไรไม่มาก ออกมาเป็นลูกหาบขายกระปุก ๑ สัปดาห์ได้กำไรกลับไปสองพันกว่าบาทไม่ถึงสามพัน แต่ก็พออยู่ได้ ถ้าเมื่อก่อนช่วงที่ขายดีที่สุดป๊อกบอกว่าเคยได้มากถึงเจ็ดแปดพันบาทเหมือนกัน

เมื่อถามว่าเศรษฐกิจแบบนี้ช่วยแนะนำหน่อยว่าคนไทยควรดูแลการเงินของตัวเองอย่างไร ป๊อกยิ้มกว้างแล้วบอกว่า “วันนี้เรามาออมกันเถอะครับ แล้วเราจะรู้ ว่าเวลา เงินขาดมือ มันจะมีประโยชน์อย่างไร”

เดี๋ยวก่อนป๊อก…อย่าเอาชีวิตจริงของตัวเองมาล้อเล่นสิ! งั้นช่วยแนะนำวิธีการเก็บเงิน ป๊อกมาวิธีการอะไรเด็ด ๆ บ้าง ป๊อกใช้เวลาคิดเล็กน้อยแล้วจึงแนะนำหลักการง่าย ๆ สามขั้นตอน

๑. ต้องรู้ว่าเก็บเงินเพื่อใคร เพื่อครอบครัว เพื่อลูก เพื่อเมีย เพื่อพ่อแม่ แล้วจึงจะเข้าใจว่าการเก็บเงินนั้นสำคัญ

๒. ให้เมียเก็บ ทุกวันนั้นได้มาเท่าไหร่แฟนผมเก็บหมด ไม่งั้นก็คงไม่เหลือ

๓. ใช้กระปุกที่ป๊อกขาย เพราะเก็บอย่างเดียวแคะออกไม่ได้ ไม่มีที่ให้แคะ

บอกเลยว่าเห็นทำท่าอาย ๆ ตอนแรก นึกว่าจะไม่เท่าไหร่ คุยมาถึงตอนนี้ ป๊อกขายเก่งมากกกกก!

งั้นคำถามสุดท้ายในฐานะที่ป๊อกเองก็คลุกคลีกับเรื่องเงิน ๆ มานานกว่าสิบปี และน่าจะมีประสบการณ์ค้าขายมากกว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจหลาย ๆ คน ช่วยบอกเราได้ไหมว่าอยากขายของให้เก่ง ๆ ได้เงินมาก ๆ ต้องทำอย่างไร ป๊อกหันมาบอกสั้น ๆ ก่อนเดินจากไปว่า

“ขยันเดินอย่างเดียวเลยครับ”