สารพัดความพิการที่ประเทศกูมี

โลกให้ความสำคัญกับคนพิการมาก จนกำหนดให้วันที่ ๓ ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันคนพิการสากล” ในวงการกีฬาก็จัดให้มี กีฬาคนพิการจนถึงระดับโอลิมปิก ในวงการออกแบบก็กำหนดให้มีอารยสถาปัตย์ หรือ การออกแบบเพื่อทุกคนในสังคมสามารถใช้งานได้โดยปราศจากอุปสรรค แล้วสังคมเราล่ะ ให้ความสำคัญกับคนพิการแค่ไหน

ถ้าจะให้ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว ประเทศเราก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนพิการมากพอสมควร นอกเหนือจากการกำหนดให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก และสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ แล้ว ยังมีเงินช่วยเหลืออีกเดือนละ ๘๐๐ บาท โดยสามารถตรวจสอบสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ได้ที่ เว็บไซต์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ[http://dep.go.th/Content/View/1337/2] หรือโทรศัพท์ ๐๒.๓๕๔.๓๓๘๘

ไม่เพียงแค่เงินช่วยเหลือและสวัสดิการ แต่รัฐบาลยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันเป็นแผนฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๖๐- ๒๕๖๔) แต่ไม่ว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญอย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้วชีวิตของคนพิการจำนวนไม่น้อยยังห่างไกลจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังคงถูกเอาเปรียบจาก “คนใจพิการ”

ห้างสรรพสินค้ามีที่จอดรถคนพิการ แต่คนปกติกลับเข้ามาแย่งใช้ สถานีรถไฟฟ้ามีลิฟต์สำรับคนพิการ แต่คนปกติกลับแย่งใช้ หรือบางทีก็ปิดไว้ไม่ให้ใครใช้ คนพิการจะข้ามถนนตรงทางม้าลาย ไม่มีใครหยุดรถให้ข้าม ทางลาดที่ออกแบบเพียงเพราะต้องมีแต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง

ในโอกาสวันคนพิการสากล ขอยกประเด็นความพิการขึ้นมาอีกครั้งเพราะให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักว่า ยังมีคนพิการเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องการพื้นที่เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ตลอดจนรณรงค์ให้คนที่ไม่พิการไม่เบียดบังพื้นที่ของคนพิการ

สุดท้ายนี้อยากจะชวนเพื่อน ๆ ช่วยกันคิดหน่อยว่า นอกจากคนพิการแล้ว ยังมีปัญหา “ความพิการ” อะไรอีกที่บ้านเรามี และความพิการแบบไหนเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด