ฝรั่งคลั่ง…โรงหนังสแตนด์อโลนไทย!

ในประเทศไทยมีสาขาโรงภาพยนตร์รวมกันมากกว่า ๒๐๐ แห่ง มีจอฉายภาพยนตร์รวมกันกว่า ๑,๐๐๐ จอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงภาพยนตร์ในระบบมัลติเพล็กซ์ หรือสาขาโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่มีโรงภาพยนตร์ย่อย ๆ หลายโรงอยู่ด้วยกัน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอล หรือไลฟ์สไตล์มอล มากกว่าร้อยละ ๙๕ เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือยักษ์ใหญ่ ในขณะที่โรงภาพยนตร์รูปแบบสแตนด์อโลน หรือโรงภาพยนตร์แบบเดี่ยวที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงราวทศวรรษที่ ๒๕๓๐ กลับหลงเหลือมาถึงปัจจุบันและยังคงฉายหนังอยู่แค่ไม่ถึง ๕ แห่งเพียงเท่านั้น

…มั่นใจได้เลยว่า คนเจนวาย เจนซี ที่เกิดหลังปี พ.ศ. ๒๕๓๐ แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับโรงหนังแบบสแตนด์อโลนเลยสักครั้งในชีวิต…

แม้ว่าคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลัง ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับเสน่ห์ของโรงหนังสแตนด์อโลน แต่สิ่งที่พอจะเป็นหลักฐาน หรือบอกได้ว่า โรงหนังสแตนด์อโลนเคยรุ่งเรืองในประเทศไทยแค่ไหน หน้าตาของโรงหนังสแตนด์อโลนที่เคยมีอยู่ในแทบทุกจังหวัดของประเทศไทยเป็นอย่างไร กลับอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า Thailand’s Movie Theatres ของชายหนุ่มชาวต่างชาติ จากเมืองฟิลาเดเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ชายผู้หลงใหลในบรรยากาศการดูหนังในโรงหนังสแตนด์อโลนคนนี้มีชื่อว่า ฟิลลิป จาบลอน (Philip Jablon)

เพราะอะไรถึงได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของโรงหนังสแตนด์อโลนในประเทศไทย?

ฟิลลิป จาบลอน เล่าว่า ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้เข้ามาเรียนต่อในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหลักสูตรนานาชาติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมยามว่างของฟิลคือ การเดินเที่ยวสำรวจเมืองเชียงใหม่กับการชมภาพยนตร์ ซึ่งแน่นอนว่าฟิลเองก็ชมภาพยนตร์ในโรงแบบมัลติเพล็กซ์ในห้างเหมือนคนอื่นทั่วไป จนกระทั่งวันหนึ่งที่ได้เดินเที่ยวสำรวจเมืองเชียงใหม่แล้วบังเอิญไปพบกับโรงภาพยนตร์ ทิพย์เนตรรามา โรงหนังสแตนด์อโลนใจกลางเมืองเชียงใหม่ ฟิลรู้สึกตื่นเต้นมากเสมือนเจอเพื่อนเก่าในวัยเด็ก

“ผมรีบไปถามเพื่อน ๆ ซึ่งหลายคนก็เป็นคนเชียงใหม่ว่ามีใครรู้จักโรงหนังนี้ไหม ปรากฎว่าไม่มีใครรู้จักเลย (หัวเราะ) ผมกับเพื่อนก็ชวนกันว่าจะไปดูกันสักครั้ง แต่ก็ไม่มีโอกาสเพราะหลังจากนั้นไม่นานโรงภาพยนตร์แห่งนี้ก็ปิดตัวลง”

อย่างไรก็ตามการได้พบกับทิพย์เนตรรามาทำให้ ฟิลลิป ตัดสินใจเริ่มต้นค้นคว้าเรื่อราวเกี่ยวกับโรงหนังสแตนด์อโลนในประเทศไทยโดยใช้เวลาราว ๑๐ ปี เดินทางไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศที่มีโรงหนังสแตนด์อโลน ฟิลได้เก็บบันทึกข้อมูล และถ่ายภาพด้วยตัวเอง ทั้งยังขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านภายใต้โครงการที่ชื่อว่า The Southeast Asia Movie Theater และกลายมาเป็นหนังสือ Thailand’s Movie Theatres ในที่สุด

“ผมอยากออกไปถ่ายรูปโรงหนังเก่า อยากไปสำรวจในทุก ๆ จังหวัด แล้วบันทึกข้อมูลของโรงหนังไว้เพื่อให้มีการบันทึก แล้วรุ่นต่อ  ๆ มา อย่างน้อยก็ยังจะมีรูปให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น ได้ศึกษา”

ทำไมถึงหลงเสน่ห์ของโรงหนังสแตนด์อโลน?

ฟิลได้พาเราย้อนความหลังไปในวัยเด็กที่เกิดและเติบโตในฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกา สมัยที่ฟิลยังเด็กนั้นมีโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนอยู่สิบกว่าแห่งใจกลางเมือง เมื่อมีเวลาว่างก็จะพากันไปดูหนังทั้งครอบครัว เป็นความบันเทิง และความสุขในยุคนั้นก่อนที่โทรทัศน์ และสื่อบันเทิงอื่น ๆ จะเข้ามา ซึ่งตอนนี้ที่ฟิลาเดเฟียก็เปลี่ยนไปแล้ว โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนขนาดใหญ่ก็หายไป กลายเป็นโรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าซึ่งอยู่ห่างออกไปจากเมืองต้องขับรถไป ความรู้สึกที่ไปดูหนังในห้างนั้นไม่เหมือนที่เคยดูแบบเดิมสมัยยังเด็ก

ฟิลได้ย้ำถึงความรู้สึกที่ได้เห็นโรงหนังทิพย์เนตรรามาเป็นครั้งแรกว่า “ดังนั้นเมื่อรู้ว่า ประเทศไทยก็มีโรงหนังสแตนด์อโลนผมจึงรู้สึกตื่นเต้นมาก”

โรงหนังในสหรัฐอเมริกาเหมือนหรือแตกต่างจากประเทศไทยอย่างไร?

โรงภาพยนตร์ยุคก่อนเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชน ตั้งอยู่ริมถนนใจกลางเมือง ผู้คนในละแวกนั้นสามารถเดินเท้ามายังโรงภาพยนตร์ได้หรือต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะได้สะดวก การไปดูหนังนอกจากจะได้ความบันเทิงแล้วยังเป็นสถานที่พบปะของคนในชุมชน เป็นสถานที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไปจับจ่ายซื้อของ รับประทานขนมหรืออาหาร ไปเดท เป็นประสบการณ์พิเศษสำหรับทุกเพศทุกวัย

ในแง่สถาปัตยกรรมของโรงหนังเองก็มีความน่าสนใจ โรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกานั้นบูมมากในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๐ มีการก่อสร้างเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างหรูหรา มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นำเอาศิลปะจากยุคต่าง ๆ มาดันแปลงให้ทันสมัย เช่น สถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูเรอเนสซ็องส์ หรือสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูอียิปต์ ดังนั้นเขาจึงเรียกโรงภาพยนตร์แบบนี้ว่า “มูฟวี่พาเลซ” ซึ่งแตกต่างจากโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มมีการสร้างโรงภาพยนตร์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แล้วก็ตาม แต่โรงภาพยนตร์มาเติบโตในประเทศไทยจริง ๆ คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง รูปแบบสถาปัตยกรรมก็จะเป็นแบบสมัยใหม่ สวยงามแต่ไม่หรูหราอลังการแบบในสหรัฐอเมริกา ซึ่งโรงภาพยนตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีลักษณะคล้าย ๆ กันกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโรงหนังสแตนด์อโลนทั้งสหรัฐอเมริกาและของไทยนั้นก็แทบไม่ต่างกัน โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ค่อย ๆ ปิดตัวลง ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ การเติบโตของโทรทัศน์ทำให้ผู้คนหันไปหาความบันเทิงจากช่องทางอื่น ๆ ผนวกกับราคาที่ดินที่ถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ โรงหนังหลายแห่งในอดีตจึงได้เปลี่ยนมาเป็นคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน

ขณะนี้ยังเหลือโรงหนังสแตนด์อโลนในประเทศไทยกี่แห่ง?

เป็นคำถามที่ฟิลตอบได้ง่ายมาก เพราะในปัจจุบันเหลือโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแค่นับนิ้วได้ นอกจาก สกาล่า ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่สวยที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว ยังมีแค่ ลิโด ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน มีโรงภาพยนตร์เดชอุดม ที่อุบลราชธานี และโรงภาพยนตร์ชุมแพซีนีเพล็กซ์ ที่ขอนแก่น ที่ยังคงฉายหนังอยู่

แล้วศาลาเฉลิมกรุงล่ะจัดว่าเป็นโรงหนังสแตนด์อโลนไหม ฟิลมองว่าปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงเป็นสถานที่จัดการแสดงไปแล้วจึงไม่นับเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่ยังคงฉายหนังอยู่ แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งโรงภาพยนตร์ในอดีตที่ได้รับการอนุรักษ์ และยังคงมีความงดงามมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อความชัดเจน ฟิลจึงได้อธิบายว่า

“โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนในมุมมองของผม คือสถานที่ซึ่งทำหน้าที่หลักคือการฉายหนัง ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าที่มีโรงหนังอยู่ในนั้น หรือ พื้นที่การขายสินค้าและริการอื่น ๆ ที่มีโรงภาพยนตร์เป็นส่วนประกอบ”

คนไทยควรอนุรักษ์โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนให้กับมามีชีวิตอีกครั้งหรือเปล่า?

ฟิลเล่าว่ามีความพยายามที่จะปรับปรุงโรงภาพยนตร์เก่าให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้งหลายแห่ง โดยเฉพาะ โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี หรือ โรงหนังนางเลิ้ง ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นโรงภาพยนตร์อาคารไม้สองชั้นใจกลางเมืองที่นับได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจจะเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย (ฟิลยังคงค้นคว้าข้อมูลอยู่) อย่างไรก็ตามฟิลเห็นว่า การอนุรักษ์โรงภาพยนตร์เก่านั้นอาจทำได้หลากหลายรูปแบบ อย่างโรงหนังปรินซ์รามา ย่านบางรัก ก็ชุบชีวิตมาเป็นโรงแรมซึ่งยังคงรักษาไว้ซึ่งอาคารสถาปัตยกรรม และบรรยากาศของโรงภาพยนตร์ในสมัยก่อนไว้ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ก็เกิดขึ้นที่โรงหนังใน เชียงราย นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่โรงหนังปารีสก็ได้ยินมาว่าจะชุบชีวิตกลับมาแต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร

ในความคิดของฟิล เขาเชื่อว่า

“ในสมัยก่อนกรุงเทพมีโรงหนังราว ๑๐๐ แห่ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ทั้งหมดนะ ถ้ามีสัก ๔-๕ แห่งก็โอเคแล้ว เพื่อที่จะมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สามารถเชื่อมอดีตกับปัจจุบันได้ อย่างน้อย ๆ ตัวอาคารเก่าเองก็สามารถสะท้อนเรื่องราวจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การใช้ชีวิตของผู้คน ทำให้เกิดความหลากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่าการทำแบบนี้จะเกิดเป็นผลดีกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ให้มีความน่าสนใจ มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความเข้มแข็ง และดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น”

อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์อาคารโรงหนังเก่านั้นจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของชุมชน ในสหรัฐอเมริกา ที่ซีแอตเทิล โรงหนังเก่าหมดสมัย เริ่มหายไป แต่ก็ยังมีชุมชนที่เข้มแข็งที่ช่วยกันมีคนที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชุมชน คุณพอล อัลเลน หนึ่งในผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ เขาบริจาคเงินให้กับชุมชนเพื่อซื้อโรงหนังเก่าที่กำลังจะทุบทิ้งมาซ่อมแซมและปรับปรุงใหม่ทั้งหมด เพื่อให้คนซีแอทเทิลได้เก็บรักษาไว้

“ผมเองเพิ่มมีโอกาสไปดูหนังที่นั่นมา จอใหญ่มาก ให้ความรู้สึกเหมือนสมัยที่เคยไปดูหนังตอนเด็ก ๆ สนุกมาก ผู้คนได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน พูดคุยกัน บรรยากาศแบบนี้ไม่ใช้แค่ผมที่รู้สึก แต่ผู้คนในชุมชนก็รู้สึกได้”

สำรวจโรงหนังประเทศไทยมานานขนาดนี้ เคยดูหนังกลางแปลงหรือเปล่า?

ฟิลตอบด้วยเสียตื่นเต้นทันที่ว่า “สนุกมากกกกกก” ฟิลเล่าว่าเคยดูหนังกลางแปลงครั้งแรกที่จังหวัดชัยภูมิเมื่อสิบปีก่อน หนังกลางแปลงสนุกมาก มีการตั้งจอขนาดใหญ่ใจกลางเมืองกลางถนน สองข้างทางมีตึกแถวเป็นเสมือนผนัง ผู้คนต่างออกมาจับจองที่นั่งกลางถนน ทั้งที่เป็นคู่ เป็นครอบครัว และเป็นกลุ่ม ทุกคนพูดคุยกันและชมภาพยนตร์อย่างสนุกสนาน ด้านข้างมีคนมาออกร้านค้า “เป็นบรรยากาศที่ผมชอบมาก เป็นวัฒนธรรมที่น่ารัก มีความเป็นคอมมิวนิตี้สูงมาก ซึ่งที่อเมริกาเองก็ไม่เป็นแบบนี้ จะมีเป็นพวกไดรฟอินขับรถเข้าไปดู ไม่เหมือนแบบนี้”

ได้เก็บของสะสมเกี่ยวกับโรงหนังไทยไว้บ้างหรือไม่?

“มีครับ ผมชอบเก็บตั๋วหนังเก่า กับโปสเตอร์หนังเก่า ๆ” ฟิลเล่าว่า ชอบโปสเตอร์หนังของคนไทยมาก เพราะมีความสร้างสรรค์สูง มีความพิเศษกว่าที่อื่น แสดงให้เห็นจินตนาการของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง อย่างหนังจากฮอลลีวูดไม่ใช่ว่าจะใช้โปสเตอร์แบบเดียวกับที่ฮอลลีวูดใช้ แต่คนไทยจะต้องเอามาตีความและนำเสนอในแบบของตัวเอง โดยมีรายละเอียดที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ชมอยู่ในนั้น ฟิลอธิบายว่า

“เพราะในสมัยก่อน ในยุคที่โรงหนังบูมโดยเฉพาะต่างจังหวัด คนเขาไม่รู้หนังสือ ถ้าเขาเลือกหนังที่จะดู ก็จะดูจากใบปิดที่มีรายละเอียดมากที่สุด”

สุดท้ายนี้ฟิลได้ฝากบอกถึงคนรักหารดูหนังว่า ถ้ามีโอกาสอยากให้ทุกคนได้ไปดูหนังในโรงหนังสแตนด์อโลนบ้าง ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปดูโรงหนังอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงหนังในห้าง หรือไปดูหนังในโรงหนังนอกกระแสบ้าง ซึ่งปัจจุบันก็มีทางเลือกชมหลายแห่ง ทั้ง สกาล่า ลิโด เฮ้าส์ ซีเนม่าโอเอซิส หรือแม้กระทั่งหนังกลางแปลง การได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง อาจทำให้คุณค้นพบอะไรบ้างอย่างในชีวิตก็ได้

 

 

ส่งท้าย

สนใจหนังสือ Thailand’s Movie Theatres เรื่องราวดี ๆ ภาพสวย ๆ ถือแล้วคูลดูมีรสนิยม สามารถเป็นเจ้าของได้ที่ เอเชียบุ๊คส์ คิโนะคุนิยะ หรือร้านหนังสือใหญ่ทั่วประเทศ

แต่ถ้าอยากรู้จัก ฟิลลิป จาบลอน (Philip Jablon) ฝรั่งบ้าโรงหนังไทยให้มากกว่านี้ หรือ ต้องการหนังสือ Thailand’s Movie Theatres พร้อมลายเซ็น สามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/SEAMTP/

บอกไว้ก่อนว่า ฟิล อยู่ประเทศไทยมากว่าสิบปี พูดไทยได้คล่องไม่แพ้คนไทยด้วยนะ!