สังคมไทย…รู้มั้ยใครใหญ่!!

เคยเจอสถานการณ์กระอักกระอ่วนใจแบบนี้บ้างไหม

เจ้านายมีลูกน้องเป็นพี่เขย เวลาจะสั่งงาน จะสั่งอย่างไรไม่ให้กระอักกระอ่วนใจ?

รุ่นพี่โรงเรียนทหารไปเจอรุ่นน้อง รุ่นน้องยศใหญ่กว่า ใครต้องทำความเคารพใคร?

บิ๊กทหารยศนายพล ออกไปเจอร้อยเอกแต่มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี แบบนี้ใครใหญ่กว่ากัน?

ไม่นับรุ่นพี่รุ่นน้องยศเสมอกัน ได้เหรียญเหมือนกัน แต่รุ่นน้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกครหาว่าไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ในขณะที่รุ่นพี่เป็นสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต่างคนต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน ผลัดกันอ้างว่าตัวเองใหญ่ คำถามคือ แล้วใครกันแน่ที่ใหญ่กว่ากัน?

นอกจากสถานการณ์เหล่านี้ ยังมีอีกหลายต่อหลายครั้งที่ได้เห็น ผู้ว่าราชการจังหวัดไหว้กำนัน ตำรวจยศใหญ่คับประเทศยกมือไหว้นักธุรกิจ ผู้สมัครรับเลือกตั้งไหว้ขอทาน สถานการณ์ประหลาดผิดธรรมดาแบบนี้ล้วนแต่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยจนบ้างครั้งทำให้เกิดความสับสนในตัวเองได้ว่า จริง ๆ แล้ว ตัวเราใหญ่ หรือใครกันแน่ที่ใหญ่?

 

ยิ่งพอไปถึงงานพิธีต่าง ๆ ที่มีการเชื้อเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ไปร่วมงาน การจัดเรียงเก้าอี้โต๊ะประธาน การจัดที่นั่งโต๊ะวีไอพี นั่งหรือตำแหน่งยืนก็เป็นการระบุความสำคัญของบุคคลนั้น ๆ คนที่ใหญ่ย่อมอยู่หัวแถว เมื่อผู้จัดงานต้องเจอแขกระดับโคตรวีไอพีหลาย ๆ คนแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครใหญ่กว่ากัน ระหว่าง พลเอก … รองศาสตราจารย์ พลเอก นายแพทย์ … ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมราชวงศ์ … จ่าสิบตำรวจ ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรี หากคนเหล่านี้มาอยู่รวมกันในงานเดียวกัน จะจัดลำดับความสำคัญว่าใครใหญ่ได้อย่างไร?

ในทางเทคนิค Typeไทย ได้ไปค้นคว้ามาแล้วก็พบว่า ให้ยึดหลัก ตำแหน่ง บทบาทหน้าที่ มาก่อนยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ในทางปฏิบัติก็มักพบว่า คนที่มียศมีตำแหน่งก็จะงัด ๆ กันเป็นปกติว่า ตัวเองใหญ่กว่า สุดท้ายแล้วก็เป็นความลำบากใจของผู้จัดงานว่าจะหาทางออกอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

 

หากจากมีสิ่งไหนที่ Typeไทย จะฝากให้คิดในประเด็น “ใครใหญ่” นี้ได้บ้าง ก็อยากจะให้สังคมได้ตระหนักว่า “ใครใหญ่กว่าใคร” ไม่สำคัญเท่า “ใครทำประโยชน์” ให้กับสังคมได้มากกว่ากัน โดยเฉพาะพวกที่ใหญ่แต่ไร้ประโยชน์ คนเหล่านี้ไม่ควรที่จะได้รับความสำคัญมากจนเกินความจำเป็นนัก

…หรือใครว่าไม่จริง …?