ชวนคุยเรื่อง “รัก” และ “ชัง” ชาติ กับศิลปินร็อกเจนซี “บอมบ์ แอท แทร็ค”

Typeไทย ชวนเด็กหนุ่มอายุย่าง ๒๕ กลุ่มหนึ่งมาคุยเรื่อง “ความรัก” และ “ชังชาติ” โดยตั้งคำถามว่า “คนรุ่นใหม่…ชังชาติจริงหรือ?” แม้คำถามจะล่อแหลม ซ้ำเด็กหนุ่มกลุ่มนี้เป็นศิลปินที่นำเสนอบทเพลงสะท้อนความอยุติธรรมในสังคมไทย จนผู้ใหญ่หลาย ๆ คนอาจมองว่าก้าวร้าวไปจนถึงชังชาติ แต่พวกเขาก็ตอบรับที่จะคุยกันถึงเรื่องนี้อย่างสบาย ๆ และตอบทุกคำถามอย่างตรงไปตรงมา

หลังจากย่อหน้านี้ Typeไทย ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า การเปิดใจให้กว้างและทำความเข้าใจความคิดของกลุ่มวงดนตรีคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในเสียงสะท้อนของยุคสมัยและเป็นตัวแทนของคนธรรมดาทั่วไปในสังคมไทย ของเด็กหนุ่มทั้ง ๕ ในนาม “บอมบ์ แอท แทร็ก” (Bomb At Track)

“เพลงของวงพวกเราน่าจะสะท้อนเสียงของประชาชนทั่วไป คนธรรมดาที่ไม่มียศตำแหน่ง คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน  ซึ่งก็คือคนทั่ว ๆ ไป ที่เราเจอตอนเดินกลับบ้าน เจอบนท้องถนน เจอบนรถเมล์ ประมาณนั้นครับ”

ปราชญานนท์ ยุงกลาง หรือ “ปุ้ย” มือกีตาร์ค่อย ๆ เรียบเรียงความคิดก่อนที่จะเป็นตัวแทนของวงตอบคำถามแรกที่ได้ถามไปว่า ผลงานของพวกคุณนับว่าเป็นตัวแทนเสียงของคนกลุ่มไหนในสังคมไทย

(ปุ้ย) ปราชญานนท์ ยุงกลาง, บอมบ์ แอท แทร็ค

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลามากนักคำถามต่อมาจึงถามกันตรง ๆ ว่า ทำไม บอมบ์ แอท แทร็ก ถึงเลือกสร้างผลงานที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทย พวกคุณชังชาติหรือเปล่า? หลังจากองหน้ากันไปมาสักพัก “เต้” วงศกร เตมายัง ในฐานะนักร้องนำก็เริ่มตอบคำถามนี้เป็นคนแรก

“ผมว่าไม่ใช่นะ ถ้าชังชาติจริงแปลว่าพวกผมจะอยากเห็นชาติล่มจม แต่ที่ทำแบบนี้ พวกผมอยากให้ประเทศชาติดีขึ้นนะ ซึ่งมันไม่ใช่คำว่าชังชาติแน่นอน แค่วิธีทำของพวกเราอาจจะต่างกันหรือไม่ถูกใจกับคนที่มองลงมาแล้วรู้สึกไปว่าไอ้พวกนี้มันพูดแต่ข้อเสีย คือเราไม่จำเป็นต้องพูดถึงข้อดีตลอดไปก็ได้ครับ ถ้าเกิดถูกบอกว่าดี ชม สปอยล์ไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะต้องแก้ไขอะไรใช่ไหม ดังนั้นผมว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องชังชาติ”

พวกคุณไม่ได้ชังชาติ พวกคุณอยากให้สังคมไทยดีขึ้น จึงนำเสนอเรื่องไม่ดีของสังคม เพียงแต่ว่าอาจจะมีบางคนมองลงมาแล้วไม่ชอบสิ่งที่คุณทำอย่างนั้นใช่ไหม? สำหรับคำถามนี้ สิรภพ เลิศชวลิต หรือ “นิล” มือกลองของวงยืนยันในสิ่งที่วงทำมาตั้งแต่เริ่มต้นว่า “เพราะสิ่งแย่ ๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ควรพูด แม้ว่าตอนแรกที่เราเริ่มทำจะยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงสิ่งเหล่านั้น ก็เลยคิดว่ามีสักวงที่ต้องทำ”

และ เต้ ก็ได้เสริมขึ้นมาว่า “ตอนเริ่มต้นที่ทำเพลงแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไร จนกระทั่งไปเจอเรื่อง ๆ หนึ่งที่ดังมากในขณะนั้นคือ ข่าวรุมทำร้ายคนพิการ ก็เข้าไปดู ก็เริ่มซึมซับ นั่งมึนอยู่คนเดียว มันตีกันในหัวเลยครับ ก็เลยลองทำมาเป็นเนื้อเพลงแล้วก็คุยกัน ซึ่งก็รู้สึกว่ามันเข้ากับแนวเพลงของเราด้วยก็เลยทำกันต่อ”

(เต้) วงศกร เตมายัง บอมบ์ แอท แทร็ค

(เต้) วงศกร เตมายัง, บอมบ์ แอท แทร็ค

ข้ามมาที่มือเบสของวง “ข้น” ศาสตร์ พรมุณีสุนทร ที่ยกมือขอแทรกเข้ามาเพื่อที่จะอธิบายถึงแนวทางการทำเพลงของวงเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้วเพลงของบอมบ์ แอท แทร็ก ไม่ได้มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมหรือนำเสนอด้านลบของสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก การให้กำลังใจ หรือแม้แต่การปล่อยวางด้วยเช่นกัน รวมทั้งขยายความหมายเพลงวิพากษ์สังคมของวงว่า

“บางเพลงก็เป็นการพูดถึงคนที่มีอำนาจมากกว่าแล้วใช้ในทางที่ผิด ซึ่งอำนาจไม่ได้หมายถึงคนใหญ่โตหรือที่อยู่สูง แต่เป็นอำนาจที่เกิดในสังคม เล็ก ๆ เป็นคนระดับล่างที่เราได้เห็นได้มีประสบการณ์มาก็มี หรือแบบพูดถึงเรื่องการโกงเงินเพียงสิบยี่สิบบาทก็มี ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะไปว่าใครเป็นรายบุคคล แต่เรากำลังพูดถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง” ข้นอธิบายให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เพลงของ บอมบ์ แอท แทร็ค ไม่ได้สะท้อนความเป็นไปของสังคมเท่านั้น แต่พวกเขายังหวังว่าจะช่วยให้คนในสังคมได้คิดและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ด้วย อย่างน้อย ๆ ก็เริ่มจากตัวพวกเขาเอง “เมษ” ภควรรษ ประเสริฐศักดิ์ อีกหนึ่งมือกีตาร์ของวงบอกความรู้สึกว่า

“เวลาทำเพลงแบบที่เรานำเสนอด้านลบของสังคม ก็เหมือนทำให้เราไม่กล้าทำตามสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไปด้วย เพลงอย่างฆาตกรคีย์บอร์ด หรือเพลงที่เกี่ยวข้องกับความไม่ยุติธรรมในสังคม ถ้าเราทำอย่างนั้น อย่างที่เราวิจารณ์เขาก็จะไม่มีคนเชื่อเรา เราจะไม่ทำสิ่งนั้นเพื่อไม่ให้ย้อนแย้งกับสิ่งที่เราต้องการจะสะท้อนสังคมไทย”

(เมษ) ภควรรษ ประเสริฐศักดิ์, บอมบ์ แอท แทร็ค

(เมษ) ภควรรษ ประเสริฐศักดิ์, บอมบ์ แอท แทร็ค

คุยกันมาถึงตรงนี้ก็เกิดความสงสัยว่า สังคมไทยมันแย่จนต้องเขียนเพลงออกมาขนาดนี้เลยอย่างนั้นหรือ? ซึ่ง ข้น ก็ให้คำตอบว่า “เรื่องที่มันแย่ก็คือแย่ เรื่องที่แย่มันก็มีอยู่แล้วและอาจจะแย่เหมือนกันทั่วโลก แต่เรื่องที่แย่บางทีมันก็แย่เกินไป”

เฮ้ยแล้วไม่มีเรื่องดี ๆ เลยหรือ!? เต้ก็ตอบกลับมาว่า “คิดว่าคละ ๆ กัน ทั้งเรื่องดีเรื่องแย่” เมษ ขอจึงเสริมว่า “ผมคิดว่าเรื่องที่แย่อิมแพคกว่าครับ เลยอาจจะทำให้รู้สึกเหมือนกับว่ามันเยอะ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเยอะกว่าขนาดนั้นไหม”

ข้นมีเบสของวงค่อย ๆ รวบรวบความคิดแล้วอธิบายมุมมองของตัวเองอีกครั้งว่า “ผมว่าเรื่องดีมีอยู่แล้ว เรื่องแย่มีอยู่แล้ว ถูกเปล่าครับ เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าเรื่องไหนเยอะกว่ากัน เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะพูดเรื่องแย่ เพราะพูดแล้วมีพลังมากกว่า แล้วเราคิดว่าการพูดเรื่องดี ๆ ในบทเพลงนั้น เราไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะทำงานศิลปะแบบนั้น ด้วยแนวเพลงของเราด้วยนะครับมันเป็นเพลงร็อกแบบที่มันมีความหนักแน่น ที่มันกระแทก ผมคิดว่าการนำเสนอเรื่องแย่ ๆ ที่ทุกคนคิดนั้นเข้ากับมวลของเพลงด้วย และสามารถเป็นงานศิลปะชิ้นนึงได้ด้วยครับ”

ซึ่งสิ่งที่เด็กหนุ่มทั้ง ๕ ยืนยันในสิ่งที่นำเสนอคือ การนำเสนอเรื่องแย่ ๆ เรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมผ่านบทเพลงนั้น นอกจากจะเป็นแนวทางการทำงานศิลปะตามแนวคิดของพวกเขาแล้ว หากมีคนเห็นด้วยกับพวกเราเยอะ ๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาของสังคมไทย แล้วช่วยกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งแย่ ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทย

……….

มาถึงตรงนี้แล้วเราก็เลยอยากรู้มุมมองเกี่ยวกับความเป็นไทย หรือความไทย ๆ ทั้งห้าคนมองเห็นความเป็นไทยมีลักษณะอย่าไรกันบ้าง ซึ่งมือเบสของที่กำลังสนุกกับการตอบคำถามเริ่มต้นให้ความเห็นว่า “ความไทย ๆ ที่ผมรู้สึกได้ชัดคือตอนเรียน จะไม่มีนักเรียนกล้าถามอะไรกับครูมาก ความไม่กล้าแสดงออก อาจเป็นเพราะว่าแสดงออกไปแล้วจะโดนกีดกันทางความคิดบ้าง คนที่อายุเยอะกว่าเขาจะทัศนคติในแบบของเขา แล้วเราเด็กกว่าก็ไม่ถูกไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ บางสิ่งบางอย่างเรามีเหตุผลของเรา แต่บางครั้งคนที่มีอายุมากกว่าจะไม่มีทางเชื่อได้เลยเพราะเขาไม่ได้มีความรู้สึกแบบนั้นกับเรา”

ด้านเมษตอบว่า “ถ้ายุคนี้ความไทยเหมือนเค้ากล้าแสดงออกในทางที่ไม่ควรเยอะโดยเฉพาะเรื่องของเกรียนคีย์บอร์ดเห็นประจำ ถ้าเป็นทางดีผมก็รู้สึกนะ เวลาที่มีเรื่องรุนแรงเช่นน้ำท่วมคนไทยก็ออกมาช่วยกัน ความไทยความมีน้ำใจมีอะไรก็มาช่วยกัน” สำหรับปุ้ยนำเสนอเรื่องไทย ๆ ในชีวิตประจำวันที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น การมุง การไม่ต่อแถวขึ้นรถประจำทาง โดยเฉพาะเรื่องของแท็กซี่ ปุ้ยเล่าว่า “แท็กซี่ไทยชอบฉุนเฉียวนะ บางทีก็มีเรื่องไม่ยอมกัน ความแท็กซี่ขี้ฉุนเฉียวผมว่าก็เป็นความไทย ๆ อย่างหนึ่งนะ”

ด้านนิลก็ย้อนกลับไปเมื่อวัยเด็ก โดยเล่าว่านิล “สมัยเราเด็ก ๆ มีเคยโดนล้อโดนบุลลี่ บางทีดูเป็นเรื่องสนุก บางทีครูเองก็บุลลี่นักเรียน ตอนเด็ก ๆ เจอเหตุการณ์แบบนี้คนอื่นเขาสนุกกัน แต่คนที่โดนจะเป็นปมของเค้า ก็ไม่อยากให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา”

(นิล) สิรภพ เลิศชวลิต, บอมบ์ แอท แทร็ค

(นิล) สิรภพ เลิศชวลิต, บอมบ์ แอท แทร็ค

กลับมาที่นักร้องนำ เต้ มองเห็นถึงความไม่วิทยาศาสตร์ในสังคมแบบไทย ๆ “ผมว่าความงมงายแบบไทย ที่ไปขุนบ่อเจออะไรสักอย่างแล้วไปดื่มน้ำ อันนี้เป็นความไทย ๆ ที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เพราะไม่สอดคล้องกับความจริงและมีผลต่อสุขภาพ”

Typeไทย เลยถามกลับไปถึงเรื่องที่ไทยมาก ๆ เรื่องหนึ่งว่า แล้วเรื่องขอหวยล่ะเต้คิดว่าไง? ซึ่งเต้ก็ตอบไปหัวเราะไปว่า “อันนั้นเป็นที่พึ่งทางใจครับ”

และเมื่อคุยกันไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า เรื่องไทย ๆ ที่ดีและน่ารักในมุมมองของทั้งห้าคนก็มีหลายเรื่อง เช่น การดูแลครอบครัว ดูแลพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ขนบธรรมเนียมที่น่ารัก พิธีกรรมอย่างรดน้ำดำหัวที่เชื่อมครอบครัวเข้าด้วยกัน รวมไปถึงความงดงามของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และก็เทศกาลต่าง ๆ ซึ่งเมษให้ข้อสรุปถึงเรื่องราวดี ๆ ดังกล่าวไว้ว่า “ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นที่หาที่ไหนไม่ได้”

มาถึงตรงนี้ Typeไทย ในฐานะผู้สัมภาษณ์รู้สึกได้ว่า คนทั้งห้าที่นั่งอยู่ตรงหน้านี้ก็มีความรักความผูกพันกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก และสิ่งที่พวกเค้าต้องการไม่ได้มีอะไรนอกจากอยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น ผ่านการตีแผ่เรื่องราวที่อาจจะเป็นด้านมืดของสังคมสะท้อนผ่านบทเพลงเพื่อให้คนในสังคมได้คิดและนำไปสู่การแก้ไขให้สิ่งไม่ดีเหล่านั้นหมดไป

……….

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ เราจึงหันมาชวนคุยในเรื่องเบา ๆ มากขึ้น อย่างเช่น ความรักในมุมมองของบอมบ์ แอท แทร็ค ความรักในมุมมองของคุณเป็นอย่างไรกันบ้าง ซึ่งพอถามเรื่องรัก ๆ แล้ว หนุ่มน้อยทั้งห้าถึงกับเลิกลั่กเป็นการใหญ่อาจเป็นเพราะถนัดตอบคำถามแบบซีเรียส จนส่งเมษเป็นตัวแทนของวงในการตอบคำถามนี้ โดยเมษบอกกับเราว่า “ความรักคือการที่เราให้สิ่งนั้นจริง ๆ หมายถึงการทุ่มเท ทุ่มเทกับสิ่งนั้นครับ”

งั้นถ้าคนที่คุณรักทำผิด แล้วคุณบอกว่าทุ่มเทได้ทุกอย่าง คุณจะทำอย่างไร ช่วยเหลือ ปกป้อง หรือแก้ไขปัญหาให้เขาอย่างไร? เจอคำถามนี้เข้าไปถึงกับอึ้ง ๆ กัน เมษก็ตอบว่า “ก็ต้องแก้ไข ไม่ได้ไปบอกเขค้าว่าทำผิดไม่เป็นไรนะ แต่ว่าจะให้ไปด่าเขาก็แบบว่า..มันก็จะมีอารมณ์แบบ เราก็ต้องหาวิธีพูดแบบแก้ปัญหาได้ครับ” จนเต้ก็ต้องสรุปให้ว่าก็ช่วยคนที่เรารักแก้ไขปัญหาให้ถูกวิธี แต่ก็ต้องตักเตือนให้เขารู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดและไม่ควรทำอีก

ตรงนี้ข้นมีคำคม ๆ มาบอกกับทุกคนว่า “ความรักเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด แต่ก็เป็นความรักอยู่ดีนะครับ”

ถ้าอย่างนั้นตอนนี้มีคน ๆ นึง เค้าบอกว่าเค้ารักและเสียสละมาทำหน้าที่ให้กับประเทศชาติ เพื่อประชาชน แม้ว่าเค้าจะไม่มีความสามารถก็ตาม อย่างนี้เรียกว่าความรักมั้ย ทุกคนก็หัวเราะแล้วบอกว่า “นั่นคือคำพูดครับ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เค้าทำครับ”

(ข้น) ศาสตร์ พรมุณีสุนทร, บอมบ์ แอท แทร็ค

(ข้น) ศาสตร์ พรมุณีสุนทร, บอมบ์ แอท แทร็ค

หลังจากทีมงาน Typeไทย หัวเราะและขอเซนเซอร์คำตอบบางส่วนแล้วก็ถามต่อไปว่า ถ้าประเทศไทยเป็นผู้หญิงคิดว่าเป็นผู้หญิงแบบไหน? เต้ก็ตอบทีเล่นทีจริงว่า “น่าจะเป็นผู้หญิงมีประจำเดือนครับ อารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ แต่ว่าช่วงนี้ลงเป็นส่วนใหญ่” จนเราต้องทักท้วงไปว่าไหนว่าไม่บุลลี่ เมษเลยตอบให้ใหม่ว่า “ประเทศไทยถ้าเป็นผู้หญิงเค้าก็จะมีความสวยซ่อนอยู่ เป็นความแบบสวยแบบที่ฝรั่งชอบนะครับ”

เอาล่ะมาถึงคำถามสุดท้ายแล้ว ถ้าวันหนึ่งพวกคุณลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วมีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ หรือมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือถามกันตรง ๆ เลย ณ นาทีนี้ Typeไทย ยกเก้าอี้นายกให้พวกคุณนั่ง พวกคุณอยากจะทำอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง

ข้นบอกว่า อยากทำโครงการช่วยเหลือศิลปินไทย ช่วยเหลือวงดนตรีให้มีโอกาสสร้างผลงานให้มากขึ้น ส่วนนิลอยากแก้ไขปัญหาความคิดที่ขัดแย้งของคนในสังคมปัจจุบันจึงอยากให้มีโครงการเปิดโต๊ะคุยกัน เรื่องไหนที่มีปัญหา มีความขัดแย้งเอาแต่ละฝ่ายมาคุยกันหาข้อสรุป ด้านเต้เองมองพื้นฐานการศึกษาของเด็กไทยเป็นหลัก อยากทำโครงการปรับสภาพแวดล้อม สภาพสังคมในโรงเรียนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านบุคลากรหรือครู ที่ตัวของเต้เองก็เคยเจอมากับตัวเอง ถ้าทำให้สังคมในโรงเรียนดีขึ้นได้ก็จะช่วยลดปมด้อยของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ส่วนปุ้ยมองไปที่โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถประจำทาง ถ้าทำให้ดีกว่าเดิมได้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่น้อย

หลังจากได้คุยกับสมาชิกทั้ง ๕ ของ บอมบ์ แอท แทร็ค จนถึงคำถามสุดท้ายแล้ว Typeไทย ก็ได้ข้อสรุปว่า อย่าตัดสินใครแค่เพียงภายนอก หรือเพียงแค่สิ่งที่แสดงออกมา ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะเห็นว่าพวกเขาก้าวร้าว แต่สำหรับเราที่ได้คุยกับพวกเขาอย่างใกล้ชิด ได้สังเกตแววตาของพวกเขาในขณะที่ตอบคำถามแต่ละคำถาม แล้วลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะฝากอนาคตของสังคมไทยไว้กับพวกเขาได้หรือไม่ คำตอบของเราคือ อาจจะต้องให้เวลาพวกเขาได้สั่งสมประสบการณ์อีกนิด แต่พวกเขาสามารถดูแลอนาคตของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน!

 

##########

บอมบ์ แอท แทร็ค (Bomb At Track)

วงดนตรีร็อกแนวแร็ปเมทัลของกลุ่มคนรุ่นใหม่จากค่าบเวเฟอร์ เรคคอร์ด ที่ได้รับการจับตามองอย่างมากจากรัฐบาล ด้วยสไตล์ดนตรีที่หนักหน่วงรุนแรน ผนวกกับเนื้อหาที่จิกกัด เสียดสี สะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทยได้อย่างแสบสันต์ สมาชิกทั้ง ๕ ประกอบไปด้วย เต้ — วงศกร เตมายัง (ร้องนำ) เมษ — ภควรรษ ประเสริฐศักดิ์ (กีตาร์) ปุ้ย — ปราชญานนท์ ยุงกลาง (กีตาร์) ข้น — ศาสตร์ พรมุณีสุนทร (เบส) และ นิล — สิรภพ เลิศชวลิต (กลอง)

ติดตามพวกเขาผ่านโชเชียลมีเดียได้ที่ https://www.facebook.com/Bombattrack/