“ข้าวแช่” อาหารดับร้อนจากชาวมอญสู่ราชสำนักสยาม
เมื่อจะกล่าวถึงอาหารหน้าร้อน เมนูที่คุ้ยเคยและดูไท้ไทยมาก ๆ หนีไม่พ้น “ข้าวแช่” แม้คนไทยรุ่นใหม่หลายคนอาจจะไม่เคยกิน หรือรู้สึกว่าการเอาข้าวสวยมาแช่น้ำไม่เมคเซนส์ แต่เราก็อยากให้ชวนมาฟังเรื่องราวของข้าวแช่ก่อน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนจะไปลองหารับประทานหรือไม่ ค่อยตัดสินใจกันอีกที
หลายคนชอบบอกว่าข้าวแช่เป็นอาหารไทยแท้ ๆ บ้างก็ว่าต้นตำรับมาจากในวัง เป็นอาหารคลายร้อนของผู้ลากมากดี แต่แท้จริงแล้วข้าวแช่นำเข้ามาจากเมืองมอญ และเป็นอาหารคลายร้อนของชาวบ้านทั่วไปที่ทำกัน และเป็นอาหารประชันของชาวมอญเขาที่แต่ละบ้านแต่ละครอบครัวจะต้องทำกันทุกปีเป็นประเพณีในช่วงวันตรุษสงกรานต์
มาถึงตรงนี้หลายคนสงสัยอีกว่า ชาวมอญเขาก็มีสงกรานต์เหมือนคนไทยหรือ ก็แจ้งสักนิดว่าตรุษสงกรานต์เป็นประเพณีร่วมของชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นะ ซึ่งในวันสงกรานต์นี่เองแต่ละบ้านในชุมชนชาวมอญจะทำข้าวแช่ไปถวายพระ ซึ่งเป็นการประชันทั้งรสชาติและภาชนะว่าบ้านไหนจะเด็ดกว่ากัน ปวดหัวพระที่จะต้องเป็นคณะกรรมการตัดสิน ไม่สิ..พระก็พยายามฉันข้าวแช่จากทุกบ้านอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เสมอกันทุกปีไป
ทีนี้พอมีชาวมอญเข้ามาถวายงานในราชสำนักสยาม จึงมีการนำวัฒนธรรมข้าวแช่เข้ามาด้วย โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงโปรดข้าวแช่มาก เวลาแปรพระราชฐานไปยังจังหวัดเพชรบุรีก็นำเอาข้าวแช่ไปทำด้วย ถ่ายทอดเป็นข้าวแช่เมืองเพชรไปอีกตำรับหนึ่ง หลังจากข้าวแช่เผยแพร่ในราชสำนักสยามก็เกิดสูตรเกิดตำรับข้าวแช่ของแต่วัง เจ้านายแต่ละพระองค์ที่มีความชื่นชอบในข้าวแช่และพัฒนาฝีมือรสชาติจนกลายเป็นตำรับเฉพาะตัวไป เป็นเสมือนการประชันไปในตัว ทั้งข้าวแช่ตำรับวังสุโขทัย ตำรับวังบ้านหม้อ ตำรับวังบางขุนพรม เป็นต้น
ในปัจจุบันมีร้านอาหารหลายแห่งที่เสิร์ฟข้าวแช่ ทั้งตำรับจากในวังโดยตรงอย่างร้านท่านหญิง ร้านกัลปพฤกษ์ ตำรับเมืองเพชรซึ่งหารับประทานได้ทั่วไป ที่ดัง ๆ ก็มีบ้านวรรณโกวิท ส่วนข้าวแช่ต้นตำรับชาวมอญนั้นหากินยากสักนิด แต่ที่เกาะเกร็ดก็ยังมีให้เลือกไปชิม หรือที่ปทุมธานีก็มีข้าวแช่แม่ประเทียบ ที่สามารถโทรสั่งหรือสอบถามวันเวลาสถานที่ออกร้านได้
แม้ยุคนี้จะไม่มีการประชันข้าวแช่กันแล้ว แต่ถ้าใครสนใจ ก็สามารถไปทดสอบลิ้นตัวเองได้ ร้อนนี้ไปประชันลิ้นตัวเองด้วยการกินข้าวแช่ให้ครบทุกตำรับ แล้วมาคุยกันว่า ข้าวแช่เจ้าไหนเด็ด กินแล้วเย็นถูกใจมากที่สุด