เปิดโลกแรงงานไทย จาก “กุลี” สู่ “ผีน้อย”

ผู้ที่ใช้แรงกายแลกค่าจ้าง หรือ “แรงงานรับจ้าง” ในประเทศไทยรุ่นแรกนั้นเรียกว่า “กุลี” โดยเป็นแรงงานจีนอพยพที่เข้ามาทำงานในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นยุคที่มีการค้ากับต่างชาติสูง ทั้งยังมีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งบริษัทการค้า ชาวจีนที่อพยพเข้ามาส่วนใหญ่มาจากมณฑลฟูเกี้ยน กวางตุ้ง และไหหลำ เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างอิสระโดยจะต้องเสียภาษีให้รัฐ ต่างจากคนไทยที่ยังผูกติดอยู่กับระบบไพร่ระบบทาสจึงไม่สามารถรับจ้างเป็นแรงงานได้อย่างอิสระ

ชาวจีนขึ้นชื่อว่ามีความขยันอดทนจึงได้รับว่าจ้างให้เข้ามาทำงานขุดคลอง ต่อเรือ ทำงานโรงเลื่อย งานเหมือง งานกรีดยาง งานรับจ้างทั่วไป โดยเฉพาะงานลากรถ ที่เรียกกันว่า “กุลีลากรถเจ๊ก” ซึ่งเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยที่สุดในยุคนั้น

ส่วนที่เรียกว่า “กุลี” ในยุคนั้นไม่ได้มาจากภาษาจีน แต่มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Coolie เกิดจากการที่นายจ้างฝรั่งเรียกแรงงานชาวจีนจนกลายเป็นคำแรกแรงงานรับจ้างในยุคแรก แม้ฝรั่งจะเรียก “กุลี” แต่คนจีนนั้นเรียกอาชีพใช้แรงงานของตัวเองว่า “จับกัง” หมายถึง ผู้ที่สามารถทำงานได้หลายอย่างแต่มักเน้นงานที่ต้องใช้แรงกายหรืองานช่าง

แต่ไม่ว่าจะเป็น “กุลี” หรือ “จับกัง” หากทำงานอย่างขยัน ประหยัดอดออม และมีความเฉลียวฉลาดสุดท้ายแล้วหลาย ๆ คนก็ก้าวหน้าเติบโตเป็นเจ้าขุนมูลนาย ไปจนถึงขั้น “เจ้าสัว” ได้เช่นกัน

ส่วนคนไทยหลังการเลิกไพร่เลิกทาส หลายคนก็หันมาใช้แรงงานแลกเงินแทนการเกณฑ์แรงงานให้รัฐ เกิดกลุ่มสมาคมแรงงาน และมีการจัดทำหนังสือเพิ่มสำหรับแรงงานขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยใช้คำว่า “กรรมกร” แทนกลุ่มอาชีพของตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในเวลาต่อเมื่อเมื่อมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ แรงงานซึ่งเป็นอาชีพรากฐานในสังคมถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้โดยถูกเรียกว่าเป็น “ชนชั้นกรรมมาชีพ” จากสหายผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ จนเกิดความขัดแย้งและการต่อสู้จนล้มหายตายจากไปไม่น้อย ในยุคใหม่เพื่อให้พ้นไปจากความคิดทางการเมือง จึงมีการเรียกกันใหม่ว่า “แรงงาน” โดยเริ่มจากการเปลี่ยนชื่อวันกรรมกรแห่งชาติ เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ใน พ.ศ. ๒๕๐๐

ความสำคัญของแรงงานไม่ได้มีแค่เป็นรากฐานในการก่อร่างสร้างไทย แต่ยังเป็นการนำเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาในประเทศด้วย โดยแรงงานฝีมือไทยถูกส่งออกไปทำงานทั่วโลกโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และประเทศค้าน้ำมัน โดยเฉพาะในยุคหลังปี พ.ศ.๒๕๒๐ แรงงานไทยที่ไปทำงานในตะวันออกลางสามารถส่งเงินกลับมายังประเทศไทยได้อย่างมหาศาลจนสามารถส่งลูกหลานเรียนจบปริญญา เป็นยุคบูมของการ “ออกไปขายแรงงานต่างประเทศ” แต่ไม่ได้มีแต่ด้านรุ่งเรืองเท่านั้นเพราะมีแรงงานหลายคนที่ถูกบริษัทนายหน้าหลอก และแรงงานหลายคนไปทำงานหนักจนเสียชีวิตด้วยโรคปริศนาที่ชื่อว่า “ไหลตาย”

เมื่อแรงงานไทยออกไปใช้แรงงานต่างประเทศเพื่อเม็ดเงินที่มากกว่า สารพัดงานหนักในประเทศไทย ทั้งก่อสร้าง แบกหาม และโดยเฉพาะแรงงานประมงจึงถูกแทนที่ด้วยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เราเรียกพวกเขาว่าเป็น “แรงงานต่างด้าว”

อย่างไรก็ตามการไปใช้แรงงานเพื่อสร้างรายได้นำเงินฝรั่งกลับประเทศไม่ได้มีแค่ไปอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น หนุ่มสาวหลายชีวิตบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงอเมริกา แรก ๆ ก็ไปเรียน แต่พอได้ทำงานพาร์ทไทม์แล้วรู้สึกว่าเงินดีก็โดดวิซ่าอยู่ทำงานต่ออีกหลายปี ได้ดิบได้ดีได้สัญชาติอเมริกันไปก็มี หลายคนเรียกพวกเขาว่า “โรบินฮู้ด” แต่ล่าสุดคนไทยไปเกาหลีแล้วทิ้งตั๋วขากลับเพื่ออยู่ทำงาน แรงงานแบบนี้เขาเรียกกันว่า “ผีน้อย”

แม้ว่าการเป็นแรงงานจะเป็นอาชีพต่ำต้อยในสายตาหลาย ๆ คน แต่ในประวัติศาสตร์แรงงานไทยพบว่า จากกุลี จับกัง หรือกรรมกร แรงงาน ถ้ามีความขยันอดออมมาพร้อมด้วยความเฉลียวฉลาดก็สามารถยกระดับเป็นเจ้าสัวได้

วันแรงงานมาบรรจบอีกครั้งก็อยากจะชวนคนไทยขออย่าได้ดูถูกคนทำมาหากินสุจริต เพราะประเทศไทยนั้นเปิดกว้างกับทุกคนทุกอาชีพ วันข้างหน้าแรงงานก็สามารถ “ลืมตาอ้าปาก” เป็นเจ้าของธุรกิจได้เช่นกัน

 

########