“กระต่ายขาเดียว” ไม่ใช่สำนวน เพราะของแท้ต้องมี 3 ขา!!
“ลุงต้อมยืนกระต่ายขาเดียวโต้ เลือกผู้ใหญ่บ้านครั้งนี้ไม่มีใครโกง”
สำนวนคุ้นๆ หูเกี่ยวกับกระต่ายนี้ หลายคนคงเคยเห็นในสื่อหรือเคยเอาไปใช้กันมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้า “กระต่ายขาเดียว” ที่เราคุ้นเคย กลับเป็นกระต่ายคนละตัวกับที่หมายความว่า “ยืนยันแบบข้างๆ คูๆ และไม่เปลี่ยนความคิด” เพราะถ้าเป็นความหมายนั้น กระต่ายต้องมี “3 ขา” ต่างหาก!
เรื่องของเรื่องก็คือ สำนวนนี้มีที่มาจากนิทานเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของเด็กวัดที่วันหนึ่งอยากเอาใจหลวงพ่อขึ้นมา จึงทำเนื้อกระต่ายย่างเพื่อจะไปถวายท่าน แต่ขณะที่ย่างนั้นเนื้อกระต่ายหอมยั่วยวนใจมากจนอดใจไม่ไหว เขาจึงแอบฉีกขากระต่ายออกมากินเองไปหนึ่งข้างซะงั้น!
เมื่อนำกระต่ายไปประเคนให้หลวงพ่อ หลวงพ่อเห็นขากระต่ายข้างหนึ่งหายไป จึงถามเขาว่ามีใครมาแอบกินไปก่อนหรือเปล่า เด็กวัดยืนยันหัวชนฝาว่าไม่มี เพราะกระต่ายตัวนี้มีสามขามาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าหลวงพ่อจะถามกี่ครั้งเขาก็ยังตอบเช่นเดิม ว่ากระต่ายมีสามขาจริงจริ๊ง ไม่มีใครเอาอีกขาหนึ่งไปทั้งนั้นนนน… จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “ยืน(ยัน)กระต่ายสามขา” ในที่สุด
ส่วนเหตุผลที่มักมีคนจำสลับกับ “ยืนกระต่ายขาเดียว” นั้น เนื่องจากมีการละเล่นไล่จับของเด็กไทยอย่างหนึ่ง ที่ผู้ไล่จะถูกเรียกว่า “กระต่าย” และจะต้องกระโดดด้วยขาเพียงข้างเดียวเพื่อไล่จับผู้เล่นอีกฝ่าย ถ้าใครถูกจับได้ก็จะต้องกลายเป็นกระต่ายแทน ด้วยท่ายืนที่ไม่มั่นคง โงนเงนไปมาของกระต่ายขาเดียว จึงทำให้คนนำไปใช้ในความหมายว่า “ยืนยันด้วยข้อมูลที่ไม่แน่นอน” แทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสำนวน “ยืนกระต่ายขาเดียว” แต่อย่างใด
ดังนั้นต่อไปนี้หากเราเห็นเรื่องที่ใกล้เคียง เช่น มีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล ซึ่งใครๆ ก็เข้าใจอย่างหนึ่งเหมือนกันหมด แต่มีคนคนหนึ่งที่ยืนกรานหนักแน่นว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นคิดแน่นอน ก็ขอให้เรียกได้อย่างเต็มคำว่าเป็นการ “ยืนกระต่ายสามขา” … ไว้นับกันดีกว่า ว่าในบ้านเมืองเราจะมีกระต่ายสามขาอยู่กี่ตัวกันนะ?