ถอดบทเรียน “โควิด ๑๙” จากประเทศจีน

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)

 

ด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด รวดเร็ว และใช้ทุกมาตรการในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดอุบัติใหม่ โควิด ๑๙ ประเทศจีนจึงประสบความสำเร็จในการควบคุม และจำกัดวงของการระบาดได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ๒๕ คนเข้าไปในประเทศจีนเพื่อศึกษาสถานการณ์โควิด ๑๙ จนได้ข้อสรุปที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศดังนี้

๑. การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการติดต่อกันในครอบครัว และติดต่อผ่านละอองเสมหะเป็นหลัก

ราว ๗๘-๘๕% เป็นการติดต่อจากละอองเสมหะ (droplet) ไม่ใช่จากการกระจายจากละอองลอย (aerosol) การติดเชื้อเกิดขึ้นที่บ้านภายในครอบครัวเป็นหลัก จากการสำรวจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากที่บ้าน หรือติดเชื้อจากการระบาดในช่วงแรกที่ยังไม่มีมาตรการรับมือโรค

๒. ผู้ป่วยประมาณ ๘๐ % มีอาการไม่หนัก

ทั้งนี้ราว ๕% ของผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอีก ๑๕% ต้องใช้ออกซิเจนเข้มข้นสูงในการรักษา

๓. ผู้ป่วยอาการหนักใช้ระยะเวลาฟื้นตัวราว ๓-๖ สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยทั่วไปราว ๒ สัปดาห์

ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ส่งคนไปช่วยรับมือที่มณฑลหูเป่ยราว ๔๐,๐๐๐ คน เฉพาะในเมืองอู่ฮั่นมีโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยถึง ๔๕ แห่ง โดย ๖แห่งรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤติ และ ๓๙ แห่งรองรับผู้ป่วยหนักโดยเฉพาะกลุ่มอายุมากกว่า ๖๕ ปี สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมีการจัดสร้างโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลชั่วคราวรองรับ

๔. อาการที่เป็นสัญญาณของ โควิด ๑๘ ประกอบไปด้วย

มีไข้ (๘๘%) ไอแห้ง (๖๘%) ไม่มีแรง (๓๘%) ไอมีเสมหะ (๓๓%) หายใจ ลำบาก (๑๘%) เจ็บคอ (๑๔%) ปวดหัว (๑๔%) ปวดกล้ามเนื้อ (๑๔%) หนาวสั่น (๑๑%) อาการที่พบน้อยลงมาคือ คลื่นไส้อาเจียน (๕%) คัดจมูก (๕%) และท้องเสีย (๔%) ทั้งนี้ “น้ำมูกไหล” ไม่ใช่อาการที่เป็นสัญญาณของโรค

๕. อายุน้อยติดเชื้อยากและหากติดเชื้อก็จะไม่มีอาการหนักเท่ากับผู้ที่อายุมาก

ทั้งนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อเท่ากัน ผู้หญิงมีครรภ์หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมาก อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในประเทศจีนโดยรวมอยู่ที่ ๓.๔% ผู้ป่วยที่ไม่มีโรคอื่นใดก่อนติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิต ๑.๔%

๖. ความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดคือติดตามผู้ติดเชื้อและผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อทุกคน

โดยมีเจ้าหน้าที่ทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อทุกคนเกี่ยวกับคนที่เคยสัมผัส และทำการตรวจโรคคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด เฉพาะในเมืองอู่ฮั่นจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้โดยตรงถึง ๑,๘๐๐ คน และสามารถติดตามผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อได้ครบทุกคน

๗. ในการรองรับผู้ป่วยมีการจัดสร้างโรงพยาบาลชั่วคราวและโรงพยาบาลสนามขึ้นมารองรับอย่างรวดเร็ว

โดยทางการจีนดัดแปลงยิมเนเซียมและห้องจัดแสดงนิทรรศการให้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว ๑๐ แห่ง รวมทั้งสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด ๒,๖๐๐ เตียงอย่างรวดเร็ว

๘. จีนผลิตชุดตรวจโรคโควิด ๑๙ ได้ประมาณ ๑.๖ ล้านชุด/สัปดาห์ และรู้ผลการตรวจได้ในวันเดียว โดยทุกคนที่มีไข้และไปพบแพทย์จะได้รับการตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจนี้ทันที ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการในที่สุดอาจจะช้าเร็วต่างกันตามความแข็งแรงของร่างกาย

๙. ทดสอบการรักษาด้วยวิธีการที่หลากหลาย และนำวิธีการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดไปใช้ทั่วประเทศทันที

การรับมือขั้นแรกเพื่อป้องกันการกระจายของไวรัสให้ได้ผลที่สุดคือ ทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักมีน้อยที่สุด และขั้นตอนสำคัญรองลงมาคือ การเพิ่มจำนวนเตียง รวมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์และบุคลากรจนกว่าจะมีเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยหนัก ด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด การการตอบสนองที่รวดเร็ว การไม่ประนีประนอมใด ๆ การทุ่มเททรัพยากร ทุ่มเทงบประมาณและใช้ทุกมาตรการในการแก้ไขปัญหา ทำให้ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๓ เดือน